ส่องศักยภาพทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหนึ่งในเสาหลักของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนมาโดยตลอด และถือเป็นอีกภูมิภาคที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมานี้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเมือง 10 อันดับแรกของภูมิภาคที่มี GDP ขยายตัวได้ดีในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เมืองต้าเหลียน มี GDP มูลค่า 843,090 ล้านหยวน (4.22 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73 รองลงมาได้แก่ เมืองเสิ่นหยาง เมืองฉางชุน เมืองฮาร์บิน เมืองต้าชิง เมืองอานซาน มณฑลจี๋หลิน เมืองหยิงโค่ว เมืองผานจิ่น เมืองชีชีฮาร์เอ่อ ตามลำดับ

 

เมื่อพิจารณาในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2023 พบว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลายเป็นจุดสนใจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 38 เมืองใหญ่ ที่มีสถานการณ์การเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลินซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก ขณะที่อัตราการเติบโต GDP ของมณฑลหลัก 3 แห่งในภูมิภาคนี้ ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิงและมณฑลจี๋หลินได้แซงหน้า GDP ของประเทศไปแล้ว ส่วนมณฑลเฮยหลงเจียง GDP ก็เริ่มจะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการเร่งฟื้นฟูภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ผลดีมาก นอกจากนี้ ศักยภาพของพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ และข้อได้เปรียบในการพัฒนาเมืองยังได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลจี๋หลินซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งที่สุดของจีน อุตสาหกรรมการต่อเรือ การผลิตอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของมณฑลเหลียวหนิงก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้านอุตสาหกรรมการเกษตร แร่และป่าไม้ของมณฑลเฮยหลงเจียงก็ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนถูกปรับปรุงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของจีน เนื่องจากถือแหล่งกำเนิดของอุตสาหกรรมยานยนต์จีน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ได้สร้างแบรนด์รถยนต์ที่มีชื่อเสียง อาทิ แบรนด์ Hongqi และแบรนด์ Jiefang นอกจากนี้ ยังให้กำเนิดองค์กรชั้นนำหลายแห่งของจีน เช่น บริษัท Shenggu Group Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีที่สำคัญของจีน และยังเป็นแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญของจีนอีกด้วย ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นได้ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอย่างจริงจัง และยังได้จัดตั้งกลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีนขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย โดยภูมิภาคนี้มีอัตราการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรครอบคลุมเกือบทั่วภูมิภาคหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.8

 

นอกจากเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคนี้จะเติบโตแล้ว การยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังถูกพัฒนาให้ดีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาคนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมแร่ธาตุแบบดั้งเดิม อุตสาหกรรมการเกษตรและป่าไม้ และอุตสาหกรรมหนัก ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคนี้ยังได้มีการเร่งเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความเป็นดิจิทัล ความเป็นอัจฉริยะ และพลังงานสีเขียว ซึ่งถือเป็นจุดเน้นและจุดเด่นใหม่ที่เป็นแรงผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องกลไฟฟ้าก็พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถส่งออกเครื่องกลไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศที่ลึกซึ้งและแน่นแฟ้น ขณะที่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการเกษตร ก็มีแนวโน้มในการพัฒนาที่ดี ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมและเทศกาลหิมะของมณฑลเฮยหลงเจียงที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและการบริโภคทั้งภายในและต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังได้เร่งสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศโดยใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้ง และทรัพยากรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการแลกเปลี่ยนกับประเทศและพื้นที่ใกล้เคียง ยกตัวอย่างเช่น มณฑลจี๋หลินที่มีปริมาณการค้ารวมของมณฑลสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกับเกาหลีเหนือและรัสเซียขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่วนมณฑลเหลียวหนิงก็มีการส่งออกเครื่องกลไฟฟ้า มณฑลเฮยหลงเจียงก็ได้มีการผสมผสานวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลจีนได้จัดอันดับเมืองใหญ่ (Large City) 7 แห่งในมณฑลเหลียวหนิง หนึ่งใน 3 ของมณฑลหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยประเมินจากตัวชี้วัดการพัฒนาในหลายมิติระดับเมือง เช่น GDP จำนวนประชากร ฐานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งในที่นี้ได้ยกตัวอย่าง 3 ใน 7 เมืองใหญ่ดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

1) เมืองเสิ่นหยาง เมืองหลวงของมณฑลเหลียวหนิง มี GDP มูลค่า 174,470 ล้านหยวน (872,350 ล้านบาท) มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.27 มีจำนวนประชากรในเขตเมืองถึง 7.07 ล้านคน โดยเมืองเสิ่นหยางถือเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ และมีทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์ แสดงให้เห็นได้จากการที่เมืองเสิ่นหยางมีสถานศึกษาระดับสูงจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัย Northeastern University ที่ดึงดูดคนมีความรู้ความสามารถจำนวนมาก และมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดการลงทุน องค์กร/ บริษัท และส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้เป็นอย่างดี

 

2) เมืองฝู่ซุ้น มี GDP มูลค่า 21,170 ล้านหยวน (105,850 ล้านบาท) ถือเป็นเมืองที่มี GDP มากเป็นอันดับที่ 9 ของมณฑล แต่จำนวนประชากรในเขตเมืองกลับมีมากเป็นอันดับ 4 ของมณฑล หรือมีจำนวน 1.21 ล้านคน ซึ่งยืนยันได้ว่าเมืองฝู่ซุ้นมีระดับความเป็นเมืองค่อนข้างสูง มีความต้องการในการบริโภค เป็นเมืองต้นกำเนิดถ่านหิน ปิโตรเลียมและเคมีที่สำคัญของจีน และเป็นหนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองฝู่ซุ้นได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และยกระดับจนหลายบริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้น

 

3) เมืองผานจิ่น มี GDP มูลค่า 30,850 ล้านหยวน (154,250 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นเมืองที่มี GDP มากเป็นอันดับที่ 5 ของมณฑล โดยเมืองผานจิ่นเป็นหนึ่งในฐานการผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเกษตรชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในมณฑล เป็นเมืองที่มีทรัพยากรดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีชื่อเสียงในด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการเกษตรของประเทศเป็นอย่างมาก

 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

สรุปภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2023 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนกำลังมีทิศทางที่ดี ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ด้านโครงสร้างอุตสาหกรรม และการเปิดตลาดสู่ต่างประเทศก็มีความก้าวหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความพยายามของแต่ละเมือง/ มณฑล รวมทั้ง ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของจีน ที่จะทำให้ภูมิภาคนี้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้น เมือง/ มณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาขยายตลาดในเมือง/ มณฑลรองของจีน โดยเฉพาะตลาดที่มีการบริโภคขนาดใหญ่ เช่น เมืองเสิ่นหยาง เมืองฝู่ซุ้น เมืองฮาร์บิน เมืองฉางชุน ที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ประชากรชาวเมืองมีขนาดใหญ่ อีกทั้งรัฐบาลกลางก็มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างเต็มที่ ประกอบกับเมือง/ มณฑลในภูมิภาคนี้ก็มีท่าทีเชิงบวกในการคบค้าสมาคมกับต่างประเทศ ซึ่งจะยิ่งนำโอกาสมาสู่ผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างนี้ แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีฤดูหนาวที่ค่อนข้างยาวนาน และมีความแตกต่างจากภูมิภาคอื่นในจีนเป็นอย่างมาก ดังนั้น พฤติกรรมและรสนิยมในการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ย่อมมีความแตกต่างจากผู้บริโภคชาวจีนโดยทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การตลาดได้อย่างแม่นยำ โดยเบื้องต้นผู้ประกอบการไทยสามารถทดลองตลาดโดยการร่วมมือกับคู่ค้าหรือพันธมิตรผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีน รวมถึง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนและการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับความนิยมจากผู้บริโคภชาวจีนเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพื่อสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนในภูมิภาคนี้ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ และสร้างความเชื่อมั่นผ่านความร่วมมือกับผู้ที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นของภูมิภาคนี้ เพื่อสินค้าไทยสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคได้อย่างแพร่หลาย และจะช่วยให้การเข้ามาขยายตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มา:

https://mbd.baidu.com/newspage/data/landingsuper?context=%7B%22nid%22%3A%22news_9740767338071019932%22%7D&n_type=1&p_from=4

https://mbd.baidu.com/newspage/data/landingsuper?context=%7B%22nid%22%3A%22news_10132083066909107696%22%7D&n_type=1&p_from=4

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1776606785560722171

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1775607393305294632&wfr=spider&for=pc

青岛市海外贸易促进办公室

 

zh_CNChinese