ชาวอเมริกันนิยมทานเนื้อแดงมาก แต่ผลการสำรวจปี 2024 นี้พบว่าเกือบร้อยละ 40 ตั้งใจจะทานเนื้อแดงน้อยลง
เนื้อหาสาระข่าว: ปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution ที่หลายๆ คนตั้งกันไว้มักจะเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งผลการสำรวจในปี 2024 นี้โดย OnePoll ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดยบริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์ (Godshall’s Quality Meats) ชี้ว่าร้อยละ 67 ของชาวอเมริกันตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของตนอย่างน้อย 3 ประการ โดยผลการสำรวจผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวน 2,000 ตัวอย่างพบว่ามีผู้บริโภคสนใจที่จะปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นกันมากขึ้น โดยมีร้อยละ 37 ที่ตั้งใจจะลดปริมาณการบริโภคเนื้อแดงให้น้อยลง ด้วยเหตุที่การบริโภคเนื้อแดงนั้นอาจเป็นเหตุให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับความผิดปกติในผนังมดลูกและโรคอื่นๆ อีกมากมาย แต่หลายๆ คนก็ยังกังวลว่าจะปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพกว่าเดิมได้หรือไม่ ซึ่งก็มีร้อยละ 59 ที่ก็ยังกังวลว่าสมาชิกในครอบครัวจะรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้หรือไม่ และร้อยละ 51 ที่คาดว่าจะการหาอาหารแบบใหม่มาทดแทนอาหารที่คุ้นเคยได้ยากยิ่ง
Beyond Meat ใช้โอกาสนี้ออกโฆษณาชื่อ “Literally The Least You Can Do (อย่างน้อยที่สุดที่คุณทำได้จริงๆ)” โดยมีดาราตลกมาพูดถึงวิธีบรรลุเป้าหมายด้วยวิธีที่ง่ายกว่า เช่น นั่งรถสามล้อถีบเข้าเส้นชัยก่อนนักวิ่งมาราธอนจะวิ่งมาถึง แล้วในมือก็ถือชามใส่อาหารทำด้วย Beyond Meat
ชาวอเมริกันนั้นยืนหยัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของบรรดาผู้บริโภคเนื้อวัวทั่วโลกมาตลอด แต่ก็น่าสนใจที่มีเพียงร้อยละ 12 ของประชากรผู้บริโภคเนื้อสัตว์ที่บริโภคเนื้อวัวถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณเนื้อวัวที่มีในตลาด โดยส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-65 ปี โดย Beyond Meat อ้างว่าสามารถสลับมาทาน Beyond Steak ของตนได้เท่ากับปริมาณเนื้อสัตว์ที่เคยบริโภคได้เลย โดยอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Standford ที่พบว่าการเปลี่ยนมาบริโภค Beyond Steak แทนเนื้อสัตว์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ แล้วยังได้รับการรับรองโดย American Heart Association ว่า Beyond Steak คือเนื้อจากพืชรายแรกที่ถูกต้องตรงตามคำแนะนำเรื่องสารอาหารของโครงการ Better Choices for Life ของ National Diabetes Association
ผลการสำรวจตลาดของ OnePoll ยังสะท้อนแนวโน้มตลาดอีกว่า ร้อยละ 57 ของตัวอย่างตั้งใจจะเลือกบริโภคอาหารที่มีศีลธรรมยิ่งขึ้น (อาหารที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์) มีร้อยละ 56 ต้องการสร้างนิสัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ชัดเจนกว่านั้นคือมีมากถึงร้อยละ 63 ที่กำลังหาอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้นด้วย อาทิ การเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล (ร้อยละ 62) และน้ำสลัดทำเองแทนน้ำสลัดที่วางจำหน่ายในตลาด (ร้อยละ 59) โดย Ron Godshall ประธานของ Godshall’s Quality Meats สรุปว่า ผู้บริโภคในปี 2024 กำลังมองหาแบรนด์สินค้าที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในเรื่องความยั่งยืนของงสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้า แล้วแผนกความยั่งยืนของ Beyond Meat ก็ใช้โอกาสนี้รายงานว่าสินค้าของตนนั้นเมื่อเทียบกับผู้ผลิตสินค้าจากเนื้อสัตว์แล้ว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าถึงร้อยละ 90 ใช้พลังงานที่ไม่สามารถทดแทนได้น้อยกว่าถึงร้อยละ 37 และใช้พื้นที่และน้ำน้อยกว่าถึงร้อยละ 97 ซึ่ง Beyond Steak ซึ่งทำมาจากโปรตีน Gluten จากข้าวสาลี (มักเรียกว่า “Seitan”) และถั่วปากอ้านั้น ยังได้รับรางวัลสุดยอดสิ่งประดิษฐ์ของนิตยสาร TIME ในปี 2022 ว่าเป็น “เนื้อสเต็กที่ดีต่อสุขภาพยิ่งกว่า”
Beyond Meat ออกแคมเปญโฆษณานี้มาเป็นชุดหลายๆ ชิ้นแต่ใช้ดาราตลดคนเดิมเพื่อเน้นชี้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงประโยชน์ของเนื้อจากพืชที่เหนือกว่าสินค้าจากเนื้อสัตว์ในปีที่แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะว่าเนื้อจากสัตว์กำลังถูกจับตาโดยผู้บริโภคในประเด็นเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพและกระบวนการผลิต แคมเปญโฆษณาดังกล่าวที่เน้นแนวทางการนำเสนอว่า “ที่นี่มีสิ่งดีๆ” ซึ่งเน้นในเรื่องประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ และแง่มุมต่างๆ เรื่องนโยบายความยั่งยืนที่แบรนด์ของตนมี โดยได้หยิบประเด็นเรื่องการใช้ถั่วปากอ้าและพืชต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยสารไนโตรเจนสู่สิ่งแวดล้อมเป็นวัตถุดิบ เพื่อย้ำว่าแบรนด์ของตนมุ่งมั่นในเรื่องความโปร่งใสและความยั่งยืน ผ่านแคมเปญโฆษณาที่สร้างความโปร่งใสในเรื่องกระบวนการผลิตในช่วงที่โอกาสอำนวย ตามผลสำรวจของ OnePoll ชี้ว่าผู้บริโภคนั้นเปิดรับต่อเนื้อจากพืชให้เป็นอาหารทางเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้กลุ่มอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยังคงพยายามโจมตีอย฿อย่างไม่หยุดยั้งก็ตาม
บทวิเคราะห์: แม้จะมีความพยายามโจมตีอาหารประเภทเนื้อจากพืชในหลายๆ แง่มุมแต่ก็ดูเหมือนว่าการยอมรับของผู้บริโภคก็ยังคงกลับมาอีกเป็นระลอกคลื่น แม้จะมีวูบวาบไปบ้างเมื่อมีข่าวร้ายๆ ออกมา อาทิ การโจมตีว่าเนื้อจากพืชนั้นเต็มไปด้วยสารเคมีที่ใช้ในการปรุงแต่งรสชาติ กลิ่น สีให้เหมือนเนื้อสัตว์จริง บ้างก็ว่าเนื้อจากสัตว์คือผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างหนึ่งที่ผ่านกระบวนการมากมาย ฯลฯ แต่สัจธรรมที่ว่าเนื้อสัตว์นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ นานา การทำร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทารุณกรรมต่อสัตว์ ฯลฯ ที่ยากจะปฏิเสธ และสิ่งที่เข้าตาผู้บริโภคชัดเจนที่สุดก็คือสุขภาพของตนเอง และสัจธรรมที่ว่าพืชผักต่างๆ มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยสารอาหารนานาชนิด ถั่วที่สามารถให้โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากหลายๆ แหล่ง และการรณรงค์ให้ละทิ้งเนื้อสัตว์ที่ระบือลือไกลไปทั่วโลกมาช่วยสนับสนุนอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้นๆ อย่างไม่ขาดสาย ขอยกตัวอย่างบางรายงานที่ออกมาในแนวทางนี้
Pharmacy Times รายงานถึงงานวิจัยล่าสุดโดย BMJ Nutrition Prevention & Health ซึ่งเพิ่งจะรายงานออกมาสู่สาธารณะในวันที่ 17 มกราคม 2024 ชี้ว่าอาหารที่ผลิตโดยใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักและอาหารมังสวิรัติมีความเสี่ยงที่จะติดโรคจากเชื้อโควิด-19 ลดลงถึงร้อยละ 39 ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการรับประทานอาหารนั้นมีผลต่อการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาด้วยความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนต่างๆ หลังติดเชื้อ แต่งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ชี้ชัดว่าการรับประทานอาหารที่มีผักมากๆ พืชประเภทถั่วทั้งที่เป็นฝักและเป็นเมล็ด และการจำกัดน้ำนมและเนื้อสัตว์นั้น จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อดังกล่าวได้ โภชนากรลงทะเบียน Shane McAuliffe นักวิชาการอาวุโสรับเชิญของ NNEdPro Global Institute for Food, Nutrition and Health ซึ่งเป็นเจ้าของ BMJ Nutrition Prevention & Health ร่วมกับ BMJ (British Medical Journal) ย้ำว่า “งานวิจัยชิ้นนี้เพิ่มเติมหลักฐานจากที่มีอยู่เดิมว่าการบริโภคอาหารนั้นอาจมีมีบทบาทต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้” ประเด็นสำคัญๆ ที่งานชิ้นนี้ชี้ไว้ มีดังนี้
-
- งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้วัดความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยในการบริโภคและการอุบัติของโรค ความรุนแรงและระยะของการติดเชื้อโควิด-19 โดยมีอาสาสมัครเป็นตัวอย่าง 702 รายในช่วงระหว่าเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2022 และใช้นิสัยในการบริโภค ความถี่ในการเลือกกลุ่มประเภทอาหาร วิธีการดำรงชีวิตและประวัติทางการแพทย์เป็นเกณฑ์โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกมาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้ที่บริโภคทั้งเนื้อและผักคละกันไป 424 รายและ (2) ผู้ที่เน้นบริโภคอาหารจากพืชเป็นหลัก 278 ราย และในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนี้มี 330 รายติดเชื้อโควิด-19 โดยมีร้อยละ 32 ที่มีอาการเล็กน้อยและร้อยละ 15 ที่มีอาการระดับปานกลางจนถึงรุนแรง
- กลุ่มที่ 2 นี้ แบ่งย่อยออกมาอีกเป็น (2.1) กลุ่มกึ่งมังสวิรัติหรือ Flexitarian จำนวน 87 รายที่บริโภคเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 3 ครั้งหรือน้อยกว่า (2.2) กลุ่มมังสวิรัติ จำนวน 191 ราย
- ปัจจัยที่เป็นตัวแปรร่วม อาทิ เพศ อายุและประวัติการรับวัคซีนไม่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม แต่ในกลุ่มที่ (1) มีรายงานว่ามีโรคประจำตัวในอัตราที่สูงกว่าและการออกกำลังกายในระดับที่ต่ำกว่า โดยมีบันทึกว่ากลุ่มนี้จะมีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนมากกว่าซึ่งสภาวะดังกล่าวจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะติดเชื้อโควิด-19ได้ง่ายกว่าและมีโอกาสมีอาการรุนแรงกว่าได้
- ในขณะที่ ปัจจัยเรื่องน้ำหนัก โรคประจำตัวและระดับการทำกิจกรรมระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม [กลุ่ม (1) และกลุ่ม (2)] มีผลไม่แตกต่างกันในเรื่องระยะเวลาการรักษาและความรุนแรงของอาการ แต่พบว่ากลุ่มที่ (2.2) มีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่าถึงร้อยละ 39
- นักวิจัยรายนี้กล่าวว่า “รูปแบบของอาหารจากพืชนั้น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟโตสเตอรอล[i] และโพลีฟีนอล[ii] สูง ซึ่งส่งผลต่อเซลล์หลายชนิดในร่างกายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิต้านทานและแสดงคุณสมบัติในการต่อต้านไวรัสด้วย” จึงสรุปได้ว่าอาหารจากพืชนั้นให้สารอาหารที่มีส่วนช่วยภูมิต้านทานสามารถต่อสู่กับการติดเชื้อได้ดี แต่ก็ยอมรับว่างานวิจัยชิ้นนี้มีข้อจำกัดที่กลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลจากความทรงจำซึ่งมีลักษณะเป็นอัตวิสัยของแต่ละบุคคลที่ไม่แน่นอน จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง
นอกจากนี้มีอีบทความมหนึ่งที่เผยแพร่ใน The Conversation เรื่อง Veganuary: 4 สิ่งดีๆ ที่คาดไม่ถึงจากการบริโภคอาหารจากพืช ซึ่งกล่าวถึง Veganuary (= Vegan + January) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังกำไรที่ชักนำให้คนทั่วโลกหันมาลองทานอาหารจากพืชในเดือนมกราคมและต่อๆ ไปตลอดทั้งปี โดยทุกปีจะมีการรณรงค์ในรูปแบบคำท้าทายให้คนทั่วโลกมาทานอาหารมังสวิรัติกันดูอย่างน้อยสัก 31 วันตลอดเดือนมกราคม โดยอาศัยจังหวะที่คนทั่วโลกมักมีการตั้งปณิธานปีใหม่ (New Year Resolution) ว่าจะทำอะไรใหม่ๆ ที่ดีและเป็นประโยชน์บางประการกับตนเองและ/หรือคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งดีๆ ที่อาจคาดไม่ถึง 4 ประการ นั้น ได้แก่
-
- อากาศสะอาด – ของเสียจากการปศุสัตว์ที่ปล่อยออกมาสู่สภาวะแวดล้อมนั้น อาจเป็นต้นเหตุให้ 1 ใน 5 ของคน 4 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและมะเร็งปอดด้วยเหตุจากสภาพอากาศที่เลวร้าย
- ดูดีขึ้น – มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ผู้ที่เป็นมังสวิรัติจะทำให้คนในสังคมมองในแง่ดีขึ้น ว่าเป็นผู้รู้ มีวินัย ดูแลตนเองได้ดีและส่งผลให้รู้สึกใกล้ชิดขึ้นด้วยในทางสังคม โดยอธิบายว่า การบริโภคมังสวิรัตินั้น ไม่ใช้แค่ระมัดระวังเรื่องเครื่องปรุงอาหาร แต่ยังบุคลิกของการเป็นคนที่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก ความยั่งยืนและสุขภาพของตนเอง จึงส่งสัญญาณแห่งการมีภูมิความรู้ในสังคมที่ยกย่องผู้มีความรู้และทันสมัย แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีงานวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ว่า การบริโภคมังสวิรัติ (ทั้งที่เป็นบุรุษและสตรี) นั้นสะท้อนบุคลิกของสตรีและอาจสะท้อนบุคลิกที่คนรอบข้างรู้สึกว่าน่ารำคาญ – ดังนั้นในประเด็นนี้ โปรดใช้วิจารณญาณ
- ช่วยให้ประหยัดค่าอาหาร – แม้มักจะมีความเชื่อว่าอาหารจากพืชนั้นแพงกว่าอาหารทั่วๆ ไป แต่ผลการสำรวจพบว่า อาหารที่มีเนื้อน้อยๆนั้นช่วยให้ประหยัดขึ้น โดย Marco Springmann ได้คำนวณหาค่าเฉลี่ยของอาหารแต่ละกลุ่มจากข้อมูลราคาสินค้าขั้นพื้นฐาน อาทิ ผัก เนื้อและปลา ในตลาดจริง (แต่ไม่ได้รวมอาหารแปรรูปและอาหารปรุงสำเร็จ) แล้วสรุปว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร หรือสหภาพยุโรปที่หันมาทานมังสวิรัติสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารลงมาได้ถึงหนึ่งในสาม ในแต่ละปีจะประหยัดค่าอาหารลงได้ถึง 900 ดอลลาร์สหรัฐ
- ช่วยให้ความเจ็บปวดขณะมีประจำเดือนลดลง – ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย Shireen Kassam แห่งมหาวิทยาลัยวิเชสเตอร์กล่าวถึงผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่าอาหารจากพืชที่มีไขมันต่ำช่วยลดระดับฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจนลงได้สองรอบในตัวอย่างสตรี 33 รายซึ่งได้รายงานในภายหลังว่ารูสึกความเจ็บปวดในระหว่างมีประจำเดือนนั้นมีระยเวลาที่สั้นลงและบรรเทาความรุนแรงลงด้วย และยังได้ยกตัวอย่างอีกมากมาย รวมถึงความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบที่บรรเทาลงและความเสี่ยงจากการติดเชื้อในท่อปัสสาวะลดลงด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีคำยืนยันจากนักวิชาการรายหนึ่งที่ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง ออกมายืนยันว่าทานมังสวิรัติช่วยลดรอบเอว ไม่ได้ทำให้ซึมเศร้าดังที่ร่ำลือกัน และหลังจบการทดลองดังกล่าวเขาก็ยังคงเป็นมังสวิรัติต่อไป เพราะเห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากอาหารมังสวิรัติทั้งต่อสุขภาพตน สิ่งแวดล้อมและยังช่วยลดกการกระทำทารุณกรรมต่อสัตว์นั้นแลกกับความลำบากเพียงน้อยนิดจากการเปลี่ยนมาเป็นมังสวิรัตินั้นคุ้มกว่ามาก
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ข้อดีต่างๆ นานาที่ได้นำมาขยายความในบทความนี้ ไม่ได้นำเสนอเพื่อให้เปลี่ยนใจหันมาเป็นมังสวิรัติกันให้หมด แต่วัตถุประสงค์หลักก็คือ มีเหตุผลมากมายที่จะทำการตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อขายสินค้าอาหารจากพืช โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กระแสในสหรัฐฯ กำลังมาแรง ซึ่งขณะนี้กำลังรอรายงานสถานะของตลาดอาหารจากพืชในปี 2023 ซึ่งน่าจะมีออกมาในอีกไม่นาน ดูจากผลในปี 2022 ก็บอกได้ว่ายังมีโอกาสมากมาย
อาหารจากพืชในตลาดสหรัฐฯ นั้นมีการขยายตัวอย่างมาก และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ด้วยมูลค่าตลาดสูงถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 6.6 การขยายตัวสูงมากในปี 2020 ที่เกิดโรคระบาดถึงร้อยละ 27.5 โดยการขยายตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปี 2022 นั้นสูงถึงร้อยละ 44.5 หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสะสมต่อปีร้อยละ 13
มีส่วนแบ่งทั้งยอดขายและปริมาณในตลาดสินค้าอาหารอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ผู้บริโภคสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศที่บริโภคอาหารจากพืช เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66 ในปีก่อน สามารถเจาะตลาดเข้าสู่ร้อยละ 60 ของครัวเรือนทั้งหมดในสหรัฐฯ และมีอัตราการซื้อซ้ำถึงร้อยละ 80
น้ำนมจากพืชนั้นมีการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาอาหารจากพืชทั้งหมดโดยมียอดขาย 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 การขยายตัวร้อยละ 8.5 เทียบกับปีก่อน และในรอบสามปีจนถึงสิ้นปี 2022 นั้นมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสะสมต่อปีร้อยละ 11 มีถึงร้อยละ 40.6 ของครัวเรือในสหรัฐฯ ที่บริโภคน้ำนมจากพืชนานาชนิด และมีอัตราการซื้อซ้ำร้อยละ 75.7
เนื้อจากพืชสามารถเข้าถึงร้อยละ 17.5 ของครัวเรือนในสหรัฐฯ และมีอัตราการซื้อซ้ำร้อยละ 62.5 หลังจากที่ในปี 2020 มีการขยายตัวถึงร้อยละ 46.2 แล้วยอดขายก็ยังทรงๆ ในปีถัดมา โดยมูลค่าตลาดเมื่อสิ้นปี 2022 รวม 1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในบรรดาเนื้อจากพืชด้วยกันในตลาด เนื้อจากพืชประเภทแช่แข็งครองส่วนแบ่งสูงที่สุดถึงร้อยละ 63 ขยายตัวร้อยละ 5 ในปี 2022 ส่วนประเภทที่วางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าทั่วไปได้ (Shelf-stable) นั้นมีส่วนแบ่งร้อยละ 3 และยอดขายขยายตัวร้อยละ 82.6
พูดถึงโอกาสในตลาดสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ก็ได้นำเสนอคำทำนายของ Wholefood ไปแล้วว่าปีนี้น่าจะเสาะหาซื้ออาหารจากพืชมาจำหน่ายในสหรัฐฯ กันมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารทะเลจากพืช ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการที่ดูเหมือนจะมาแรงกว่าเพื่อน แต่ก็ต้องพึงระวังอยู่บ้างตรงส่วนผสมที่บรรดาผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์จริงมุ่งโจมตีว่ามีการนำสารเคมีต่างๆ นานามาทำให้มีรูป รส กลิ่น สีเหมือนกับเนื้อสัตว์จริง ซึ่งผู้ผลิตเนื้อจากพืชน่าจะต้องรับฟังข้อโต้แย้งในกลุ่มที่เลือกบริโภคเนื้อจากสัตว์ด้วย จริงอยู่ว่าการทำให้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ก็มีส่วนอยู่มากที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกหยิบไปบริโภค แต่สำหรับผู้บริโภคที่หันมาทานพืชผักแล้ว วัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องการหนีจากสารเคมี ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนเร่งโต ฯลฯ ที่ต่างทราบกันดีว่ามีอยู่ในเนื้อสัตว์จริง อาหารจากพืชนั้นในความคาดหวังของผู้บริโภคก็คือ อาหารสะอาดปราศจากเชื้อ ยา สารเคมี ฯลฯ และตามที่ Wholefood ก็ได้ทำนายไว้ว่า อาหารจากพืชจะเป็นพืชมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็หมายถึงระดับสารปรุงแต่งที่ลดลง นั่นเองที่พวกผู้ซื้อของเขาจะมองหากัน
อีกประเด็นที่อยากย้ำก็คือ การประชาสัมพันธ์บนบรรจุภัณฑ์ ปัจจัยหลายๆ ประการที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ใช้ในการเลือกบริโภคนั้น แม้จะไม่มีใครสำรวจออกมาชัดๆ ว่าพวกเขาไม่ใส่ใจว่ารสชาติจะเหมือนเนื้อสัตว์หรือไม่ ก็คงจะสรุปได้ยากว่าต้องเหมือนหรือไม่ เหมือนแค่ไหน แต่จากการสำรวจกลับไปให้ความสนใจกับผลดีต่อสภาพแวดล้อม การช่วยลดการทารุณกรรมกับสัตว์ และที่สำคัญคือความสะอาดปราศจากสารเคมี หากองค์กรของท่าน กิจกรรมของท่าน กระบวนการผลิตของท่านและ/หรือปรัชญาการดำเนินธุรกิจของท่านเข้าข่ายไปในทิศทางเหล่านี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ของท่านสะอาดปลอดภัยไร้สารเคมีอย่างไร ก็อย่าเก็บเงียบเอาไว้ หรือแค่ใส่ไว้ในแคตตาล๊อกหรือสื่อการขายเท่านั้น แต่จงประกาศให้โลกรู้คู่กับแบรนด์ของท่าน ในทุกทำเลที่ผู้คนจะได้รับรู้ทั้งในประเทศและทั่วโลก และที่สำคัญ ก็ควรจะบอกผู้บริโภคเอาไว้บนบรรจุภัณฑ์เสียด้วยก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
*********************************************************
เชิงอรรถ
[i] ไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) เป็นสารธรรมชาติในกลุ่มไตรเทอร์ฟิน มีโครงสร้างคล้ายกับคอเลสเตอรอล ผลจากการวิจัยเกี่ยวกับไฟโตสเตอรอล พบว่ามีคุณสมบัติลดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) และลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
[ii] โพลีฟีนอล (Polyphenols) คือกลุ่มของสารที่ให้สีที่พบในพืชผักผลไม้ทั่วไป มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การรับประทานพืชผักที่มีสารโพลีฟีนอลอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บำรุงระบบย่อยอาหาร ช่วยการทำงานของสมอง และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมะเร็งบางชนิด
ที่มา: VegNews 主题: “Nearly 40 Percent of Americans Want to Eat Less Red Meat. Beyond Meat Says Its Steak Is Just the Thing” โดย: Anna Starostinetskaya สคต. ไมอามี /วันที่ 15 มกราคม 2567