แนวโน้มและความท้าทายของธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ ปี 2567

  1. ภาพรวมธุรกิจขนาดเล็กปี 2566

ในปี 2566 ภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ได้เผชิญกับความท้าทายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี มีธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่สามารถผ่านความยากลำบากมาได้และสามารถทำกำไรในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายอีกด้วย ข้อมูลจากหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce) พบว่าร้อยละ 66 ของธุรกิจขนาดเล็กสามารถทำกำไรได้ในปี 2566 อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนจากความตึงเครียดของนโยบายการเงิน การฟื้นฟูจากภาวะโควิด-19 รวมทั้ง ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจะยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กในปี 2567

 

  1. แนวโน้มและการปรับตัวของธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ ในปี 2567

2.1 การเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด 11 ครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เพื่อลดภาวะเงินเฟ้อในเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจต้องมุ่งเน้นกับสิ่งที่สามารถควบคุมได้แทน ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินสูง องค์กรก็อาจบริหารจัดการกระแสเงินสดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความผันผวนของธุรกิจอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ความท้าทายทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อลูกจ้างในบริษัทด้วย เนื่องจากค่าครองชีพในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเงินเดือนของพนักงานและงบประมาณการจ้างงานของนายจ้างในการรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูงให้อยู่กับองค์กร สภาวะปัจจุบันจึงเป็นช่วงเวลาที่องค์กรควรพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานและประมาณการงบประมาณการจ้างงานให้เหมาะสมกับการเติบโตของธุรกิจ

 

2.2 ประสบการณ์ที่ราบรื่นของลูกค้า

นอกจากประสบการณ์ด้านดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมการชอปปิงของผู้บริโภคแล้ว ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขนส่ง การสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชน และการเติบโตของการชอปปิงออนไลน์ที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มนิยมการชอปปิงแบบผสมระหว่างหน้าร้านและช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการพัฒนาการเข้าถึงสินค้าจากช่องทางที่หลากหลาย (Omni Channel Approach) จะทำให้ลูกค้าสามารถตอบสนองความต้องการและเปิดประสบการณ์การชอปปิงสินค้าที่ไร้รอยต่อระหว่างช่องทางออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และหน้าร้านได้อย่างราบรื่น

เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจึงควรพัฒนาเว็บไซต์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้าและการบริการที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วผ่านปลายนิ้ว เช่นเดียวกับหน้าร้านที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า อาทิ การรับสินค้าโดยไม่ต้องลงจากรถ การบริการที่มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะออกจากร้านพร้อมกับความพึงพอใจ

 

2.3 การใช้ประโยชน์จาก AI และกฎระเบียบในการใช้ AI

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ได้มีอิทธิพลต่อการเติบโตของธุรกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ผลสำรวจปี 2566 ของบริษัท Paychex ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลพบว่ามากกว่าร้อยละ 75 ของหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะนำ AI เข้ามาใช้เพื่อการปฏิบัติงานภายใน 1 ปี เช่น การรวบรวมความต้องการและข้อคิดเห็นของพนักงาน การประเมินผลการดำเนินงานของพนักงานและบริษัท การจูงใจผู้สมัครงานด้วยโฆษณาที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย การประเมินใบสมัครงาน และการติดตามใบสมัครและการสัมภาษณ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีเวลาในการทำงานเชิงกลยุทธ์มากขึ้น

อย่างไรก็ดี อาจมีข้อจำกัดของการนำ AI ไปใช้ อาทิ อคติของ AI การละเมิดลิขสิทธิ์ และความหละหลวมในการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งรัฐบาลกลาง รัฐ และท้องถิ่นของสหรัฐฯ ได้กำหนดกฎระเบียบเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรคำนึงถึงกฎระเบียบและข้อกำหนดด้านการตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นตามที่กำหนดด้วย

 

2.4 การมุ่งเน้นด้านความยั่งยืน

ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าชาวอเมริกัน ซึ่งรวมถึงภาพลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตด้วย ธุรกิจจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากห่วงโซ่อุปทาน เช่น การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวปฏิบัติของเสียจากการผลิต บรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำงานระยะทางไกลของลูกจ้างที่จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจในระยะยาว หากบริษัทสามารถตอบรับกระแสความต้องการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้บริษัทได้เปรียบในเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรที่จะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคนิยมสินค้ามากขึ้น ตลอดจนมีผู้ต้องการสมัครเข้าทำงานมากขึ้น และลดแรงกดดันของสังคมในการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

 

2.5 ช่องทางเลือกในการชำระเงิน

ปัจจุบันมีตัวเลือกในการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดมากขึ้น เช่น การชำระเงินผ่านมือถือ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สวมใส่อย่างนาฬิกาดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งการมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ประกอบกับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้เงินสดน้อยลง ดังนั้น เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจึงควรศึกษาและหาแนวทางในการสร้างตัวเลือกในการชำระเงินให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ ธุรกิจสามารถเพิ่มยอดขาย บริหารจัดการกระแสเงินสด และลดความเสี่ยงของธนบัตรปลอมได้ดียิ่งขึ้น

 

2.6 การมุ่งเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่อง

แนวคิดใหม่ในการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ คือ ความพยายามในการรักษาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะทำให้พนักงานได้มีการพัฒนาทักษะสำคัญและยังเป็นโอกาสในการซึมซับวัฒนธรรมองค์กร และการยกระดับทักษะจากทักษะที่มีอยู่เดิมของพนักงานและการสร้างทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงานถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของธุรกิจขนาดเล็กด้วยเช่นกัน

 

2.7 การปรับปรุงค่าจ้างพนักงานและชั่วโมงการทำงาน

การมุ่งเน้นด้านทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่องค์กรควรคำนึงถึงอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามกฎระเบียบที่ภาครัฐกำหนด คาดว่ากระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะประกาศระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานล่วงเวลาในเดือนเมษายน 2567 นี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระเบียบที่เกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาครั้งล่าสุดในปี 2563 ได้ทำให้ชาวอเมริกัน 1.3 ล้านคนเข้าข่ายการทำงานล่วงเวลามากขึ้น ดังนั้น นายจ้างโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่อาจส่งผลต่องบประมาณด้านบุคลากรและเงินเดือน เนื่องจากความซับซ้อนของการบริหารราชการระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐ และท้องถิ่น บริษัทอาจมีความท้าทายในเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดโดยหน่วยงานรัฐและข้อกำหนดของอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดเล็กจึงควรมีกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อเชื่อมโยงเป้าหมายของบริษัท และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ซึ่งหากบริษัทไม่เคยศึกษาหรือวางแผนเรื่องดังกล่าวมาก่อน ปี 2567 นี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะพัฒนาแนวปฏิบัติด้านทรัพยากรบุคคล

 

3. ความท้าทายของธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องเผชิญในปี 2567

3.1 การแข่งขันเพื่อเป็นนายจ้างที่ถูกเลือก

ธุรกิจต่างแย่งชิงบุคลากรที่มีศักยภาพสูงและพยายามหาวิธีในการจ้างงานและรักษาพนักงานที่มีประสิทธิภาพไว้ นายจ้างจึงต้องสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ของตัวเองให้ต่างจากคู่แข่ง โดยการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้สมัครและพนักงานที่มีศักยภาพ

 

3.2 ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันในการควบคุมต้นทุน

ราคาสินค้าที่สูงขึ้นยังเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน นอกจากการปรับราคาให้ทันกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแล้ว ภาคธุรกิจยังต้องจัดการกับความคาดหวังของพนักงานด้วย เช่น สวัสดิการที่ดี การขึ้นค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ เป็นต้น

 

3.3 การหมดไฟของพนักงาน (Burnout)

โควิด-19 ได้สร้างความเครียดและแรงกดดันให้กับพนักงานทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวและเรื่องงาน ส่งผลให้พนักงานรู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้าทั้งร่างกายและทางอารมณ์จนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน นายจ้างจึงต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ท้าทายและสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานมากกว่าเป็นการสร้างความกดดัน

 

3.4 การปฏิบัติตามกฎระเบียบ

เจ้าของธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2567 นี้ เช่น การทำงานล่วงเวลา ค่าแรงขั้นต่ำ ความปลอดภัยในของสถานที่ทำงาน สิทธิในการลาเพื่อเลี้ยงบุตรหรือรักษาพยาบาล แผนการเกษียณอายุ เป็นต้น

 

3.5 ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

จากสถานการณ์โควิด-19 และเทรนด์การทำงานที่บ้านที่เพิ่มมากขึ้นได้ทำให้ธุรกิจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและระบบประมวลผลแบบคลาวด์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การรักษาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์จึงเป็นสิ่งสำคัญของภาคธุรกิจในยุคปัจจุบัน

 

4. อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตอย่างมากในปี 2567

สำนักงานสถิติสหรัฐฯ คาดการณ์อุตสาหกรรมที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว มีดังนี้

4.1 อุตสาหกรรมสุขภาพ

สำนักงานสถิติสหรัฐฯ คาดว่าอุตสาหกรรมสุขภาพจะสร้างงานประมาณ 2.1 ล้านตำแหน่งในช่วงปี 2565 – 2575 ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงมากและเร็วกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของตำแหน่งงานใหม่ทั้งหมด จากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและการเกิดโรคเรื้อรังที่สูงมากขึ้น อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ได้ทำให้อุตสาหกรรมด้านสุขภาพขยายตัวอย่างมาก ซึ่งรวมถึงผู้ช่วยด้านสุขภาพที่เดินทางไปดูแลตามบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ผู้จัดการด้านการแพทย์ด้วย

 

4.2 ธุรกิจการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์

อุตสาหกรรมออกแบบระบบคอมพิวเตอร์จะเพิ่มการจ้างงานกว่า 470,000 ตำแหน่งในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านความปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่มากขึ้น

 

4.3 ธุรกิจพลังงานทดแทน

พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนได้เติบโตอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา สำนักงานสถิติสหรัฐฯ คาดว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะขยายตัวไปจนถึงปี 2575 เนื่องจากต้นทุนในการผลิตพลังงานทดแทนต่ำกว่าการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และรัฐบาลได้มีการสนับสนุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บไฟฟ้าเพื่อก้าวไปสู่พลังงานสะอาด

 

4.4 อุตสาหกรรมขนส่งและโกดังจัดเก็บสินค้า

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการซื้อขายออนไลน์ได้ทำให้ตลาดแรงงานภาคการขนส่งและคลังสินค้าเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น และทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะเริ่มมีพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยการซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 บ้างแล้ว แต่ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ก็ยังคงแข็งแรง

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี การศึกษาเทรนด์ใหม่ๆ ของธุรกิจในปี 2567 จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถปรับกลยุทธ์และใช้ประโยชน์จากเทรนด์ดังกล่าวเพื่อลดความท้าทายทางเศรษฐกิจและอาจขยายตลาดไปยังอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้องพร้อมรับมือความท้าทายของยุคสมัยใหม่ และใช้ประโยชน์จากเทรนด์เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กร

ข้อมูลอ้างอิง: Paychex

 

 

zh_CNChinese