เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

ตลาดอาหารว่างจำพวกโปรตีน (Protein snack) ในสหรัฐฯ ปี 2566 มียอดการจำหน่ายประมาณ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงปี 2567-2572 น่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 9.3% อย่างไรก็ดี Market Data Forecast คาดว่าในปี 2572 ตลาดอาหารว่างจำพวกโปรตีนน่าจะมีมูลค่าถึง 7,640 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตดังกล่าว คือ ผู้บริโภคตระหนักถึงประโยชน์และบทบาทของโปรตีนในการสร้างกล้ามเนื้อและทำให้ร่างกายอิ่มนานมากขึ้น ประกอบกับ ตารางเวลาที่จำกัดจึงทำให้ผู้บริโภคมองหาของขบเคี้ยวที่สามารถพกพาสะดวกและมีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ ความหลากหลายของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในตลาดปัจจุบันทั้งจากพืชและจากสัตว์ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารจำพวกโปรตีนเพิ่มมากขึ้น

เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

ประเภทของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. ของว่างประเภทแท่ง: เป็นหมวดหมู่ที่มีส่วนแบ่งรายได้มากที่สุดในตลาด โดยผลิตภัณฑ์ยอดนิยม ได้แก่ เนยถั่วแท่ง โปรตีนช็อกโกแลตชิปแท่ง กราโนล่าแท่งและผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร ซึ่งสินค้าเหล่านี้เหมาะเป็นของว่างที่สามารถพกพาได้สะดวกในระหว่างการเดินทางและมาในรูปแบบบรรจุภัฑณ์ขนาดเล็กง่ายต่อการควบคุมแคลอรี่

เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

2. ของว่างที่ไม่ใช่แท่ง: หมวดหมู่นี้ประกอบด้วยของขบเคี้ยวที่อุดมด้วยโปรตีนหลากหลายประเภท เช่น ธัญพืชผสมผลไม้แห้ง (trail mix) เนื้ออบแห้ง (jerky) โยเกริ์ต (yogurt) ถั่วเหลืองอ่อน (edamame) ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบที่ทำมาจากธัญพืช เช่น ถั่วชิกพี ถั่วเลนทิลหรือแป้งข้าวกล้อง (proteins chip) เนยถั่วแบบพกพา (nut butter packet) และสมูทตี้ (protein smoothie) เป็นต้น

เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มบุคคลที่ใส่ใจสุขภาพเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและต้องการผนวกโปรตีนเข้ากับอาหารของตน โดยบุคคลที่ใส่ใจสุขภาพอาจรวมถึงผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก ผู้ที่มุ่งเน้นการสร้างกล้ามเนื้อหรือสมรรถภาพทางกีฬาและผู้ที่มองหาอาหารว่างทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนา
2. กลุ่มบุคคลที่มีไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉง เช่น นักกีฬา ผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและผู้ที่ต้องใช้พลังงานมาก นิยมบริโภคโปรตีนในปริมาณที่มากเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อและระดับพลังงาน ดังนั้นของขบเคี้ยวที่มีโปรตีนสูงและพกพาสะดวกจึงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี
3. กลุ่มบุคคลที่มีตารางชีวิตค่อนข้างแน่นหรือมีอาชีพการงานที่ค่อนข้างยุ่งวุ่นวาย นิยมพึ่งพาของว่างที่พกพาสะดวกเพื่อเติมพลังงานตลอดทั้งวัน จึงทำให้ของว่างที่มีโปรตีนเป็นทางเลือกที่น่าพอใจ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงและปราศจากน้ำตาลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
4. กลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมอาหารและมีความต้องการเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูงคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาหารวีแกนหรืออาหารมังสวิรัติ

เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

ช่องทางการจำหน่ายอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ มีหารจำหน่ายผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย เพื่อทำให้สะดวกต่อผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการซื้อที่แตกต่างกัน สามารถแยกได้ดังนี้
1. ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ Walmart, Target, Kroger และ Meijer เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายชั้นนำสำหรับอาหารว่างที่มีโปรตีน มีสินค้าให้เลือกมากมายและมีแผนกสินค้าเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ
2. ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, Wawa และ Casey’s เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มองหาแหล่งซื้อสินค้าที่สะดวก มีสาขากระจายตัวอยู่ทั่วไป โดยร้านค้าเหล่านี้มักจำหน่ายโปรตีนแท่ง ถั่ว เมล็ดธัญพืชและโยเกิร์ต ซึ่งมีขนาดบรรจุภัณฑ์แยกชิ้นสำหรับกินในแต่ละมื้อ
3. ร้านค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ Whole Foods Market, Sprouts Farmers Market และ GNC ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ โดยมีการนำเสนอของขบเคี้ยวที่มีโปรตีนให้เลือกมากมายซึ่งใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติหรือนำเสนออรรถประโยชน์อื่นๆ ที่ดีต่อร่างกาย นอกจากนี้ ร้านขายอาหารเสริมสำหรับการเพาะกายและฟิตเนสมักจำหน่ายโปรตีนบาร์และผงที่ผลิตขึ้นเฉพาะสำหรับการสร้างกล้ามเนื้อและสมรรถภาพทางกีฬาอีกด้วย สินค้าจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
4. ช่องทางออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Amazon และร้านค้าปลีกออนไลน์เฉพาะที่เชี่ยวชาญด้านขนมเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้หลากหลายและมีบริการส่งให้ถึงบ้าน ซึ่งการจำหน่ายแบบออนไลน์และทางโซเชียลมีการเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน

เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายการส่งออกสินค้าอาหารและของว่างในกลุ่มโปรตีนสูงจากไทยมายังสหรัฐฯ
1. อุปสงค์ของผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าไทยในการเจาะตลาด โดยสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ของกินเล่นจำพวกถั่ว หนังไก่อบกรอบ ปลาอบแห้ง สาหร่ายอบกรอบ อาหารว่างที่ทำจากพืชและอื่นๆ
2. ผู้ประกอบการไทยควรเน้นปริมาณโปรตีนและประโยชน์บนบรรจุภัณฑ์ให้เห็นอย่างชัดเจนเพื่อสะดวกต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อ ซึ่งจากการสำรวจร้านค้าปลีกรายใหญ่ของสคต.นิวยอร์ก พบว่าการระบุปริมาณโปรตีนของสินค้าไทยด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นยังไม่แพร่หลายมากนัก
ข้อมูลโภชนาการที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญที่ต้องมี มีดังนี้
-มูลค่ารายวัน (Daily Value: DV): FDA กำหนดค่ารายวัน (DV) ซึ่งแสดงถึงปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่แนะนำในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 4 ปี โปรตีนมีค่า DV 50 กรัม/วัน
-รายละเอียดบนฉลากข้อมูลโภชนาการ (nutrition facts) อาหารและเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่ต้องมี จำเป็นต้องแสดงปริมาณโปรตีนต่อหนึ่งหน่วยบริโภค พร้อมด้วยสารอาหารอื่นๆ สำหรับข้อมูลและรายละเอียดผู้ประกอบการสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ https://www.fda.gov/food/nutrition-education-resources-materials/nutrition-facts-label ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำค่าปริมาณโปรตีนดังกล่าวมาแปะไว้ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ได้เพื่อสะดวกต่อผู้บริโภคในการค้นหาสินค้า

เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ เทรนด์สดใสของอาหารว่างจำพวกโปรตีนในสหรัฐฯ

3. รสชาติและส่วนผสมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยสามารถนำมาใช้เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคสหรัฐฯ เช่น รสชาติเผ็ดร้อนจากต้มยำ รสชาติหวานเผ็ดจากน้ำจิ้มไก่และรสชาติเผ็ดร้อนของน้ำจิ้มซีฟู้ด
4. ความหลากหลายของสินค้าอาหารและของว่างจากไทย ทั้งแบบพืชและสัตว์สามารถนำดัดแปลงให้เป็นของว่างที่มีโปรตีนสูงได้ เช่น เนื้อแดดเดียว เค้กข้าวเพิ่มโปรตีน ถั่วและเมล็ดพืชผสมผงปรุงรสหรือผลไม้ที่มีประโยชน์ หนังไก่อบแห้งและอื่นๆ
5. ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณากลยุทธ์การตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและพร้อมทดลองสินค้าทางเลือกใหม่ๆ และเพื่อเจาะตลาดที่เป็นกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ช่องทางโซเชียลมีเดียอาจจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแนะนำสินค้าให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น
6. ตลาดสหรัฐฯ เต็มไปด้วยแบรนด์อาหารว่างที่มีโปรตีนที่เป็นที่ยอมรับเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ดี การนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นจำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดที่แข็งแกร่งและช่องทางที่เหมาะสมเพื่อทำให้การแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้ผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์รีวิวสินค้า การจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมริซ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ เกิดการตระหนักรู้และหันมาเปิดใจทดลองสินค้าไทยใหม่ๆ ในอนาคตได้ ตลอดจนอาจจะสามารถผลักดันให้เกิดกระแสนิยมแบบมหภาคที่จะช่วยให้เกิดการนำเข้าไปในช่องทางร้านค้าปลีกรายใหญ่ต่อไป

 

แหล่งที่มาของข้อมูล: marketdataforecast.com/fda.gov/polarismarketresearch.com/globenewswire.com/และสคต. นิวยอร์ก

zh_CNChinese