1. สถานการณ์ของตลาดกล้วยไม้ อิตาลีเริ่มนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศมากกว่าการส่งออก มีมูลค่านำเข้าระหว่างปี 2550 – 2561 อยู่ระหว่าง 20-34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ส่งผลให้ปี 2563 มูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้ของอิตาลีลดลงอยู่ที่ 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในปี2564 อิตาลีกลับมานำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง โดยแนวโน้มของการการบริโภคกล้วยไม้ในอิตาลีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจและการค้า การพัฒนาของคู่แข่ง ราคา และระยะเวลาการขนส่ง ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจของอิตาลียังต้องประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ การปรับขึ้นราคาสินค้า/บริการ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งที่อาจส่งผลให้ราคาวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักในความไม่แน่นอนดังกล่าว และชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย หรือพิจารณาเลือกซื้อดอกไม้ที่มีราคาถูก หรือเลือกซื้อดอกกล้วยไม้ที่นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์แทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านราคา และระยะเวลาของการส่งมอบ
2. การผลิตกล้วยไม้ ปี 2565 อิตาลีมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับทำสวนและเพาะปลูกดอกไม้ประดับสูงถึง 3,035 ล้านยูโร ซึ่งการปลูกดอกไม้ถือเป็นภาคส่วนเชิงกลยุทธ์ของประเทศ โดยพื้นที่เพาะปลูกดอกไม้ทั่วไปในอิตาลี (รวมถึงกล้วยไม้) มีขนาดรวม 3 หมื่นเฮกตาร์ (ประมาณ 187,500 ไร่) และมีบริษัท/สวนที่ดำเนินการเพาะปลูกมากกว่า 2 หมื่นแห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน แคว้นลิกูเรีย แคว้นทัสคานี แคว้นลอมบาร์เดีย และแคว้นกัมปาเนีย ซึ่งการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกดอกไม้ประดับ/ต้นไม้ในอิตาลี เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. ประเภทของกล้วยไม้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) กล้วยไม้ตัดดอก โดยดอกกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมในตลาด คือ พันธุ์ Dendrobium พันธุ์ Cymbdium พันธุ์ Cattleya และพันธุ์ Synopsis 2) ต้นกล้วยไม้ตกแต่ง ในอิตาลีได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มผู้รักการตกแต่งบ้าน หรือใช้เพื่อประดับร้านค้า โรงแรม โดยกล้วยไม้ตกแต่งส่วนใหญ่จะถูกผสมพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ ซึ่งจะมีสีสันสวยงาม มีอายุยาวขึ้น และรูปทรงสวยขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมและง่ายต่อการดูแล ได้แก่ Dendrobium, Cymbidium, Odontoglossum, Oncidium และ Phalaenopsis ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และ 3) ต้นกล้วยไม้หายากเพื่อการสะสม ผู้ที่ชื่นชอบและสะสมกล้วยไม้จะนิยมกล้วยไม้พันธุ์แท้ และจะเสาะหาต้นกล้วยไม้ถึงแหล่งเพาะปลูกโดยตรง ราคากล้วยไม้เพื่อการสะสมขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของกล้วยไม้ และขนาดของดอก โดยจะมีราคาตั้งแต่ 15 ยูโร ไปจนถึง 1,000 ยูโรต่อต้น
4. พฤติกรรม/แนวโน้มการซื้อกล้วยไม้
4.1 อิตาลีมีการอุปโภคดอกไม้เป็นจำนวนมาก โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความเป็นอยู่พื้นฐาน สำหรับกล้วยไม้เองก็ถือเป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมในอิตาลี เนื่องจากมีสีสันสวยงามและรูปแบบหลากหลายให้เลือกสำหรับการใช้งาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีราคาที่สูง และต้องการการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ซึ่งดอกกล้วยไม้ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการจัดช่อ เพื่อมอบให้กันในโอกาสต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งกล้วยไม้ขนาดเล็กนิยมใช้ในโอกาสไปเยี่ยมบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ขณะที่การใช้กล้วยไม้ต้นเพื่อการประดับตกแต่งบ้าน รวมถึงการใช้ในวงการการออกแบบและการตกแต่ง การใช้ตกแต่งร้านค้า การใช้ในวงการแฟชั่น หรือการใช้เพื่อการตกแต่งภายใน จึงเป็นที่คาดว่าดอกกล้วยไม้สำหรับใช้ในการตกแต่งจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป โดยดอกกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ พันธุ์บอมโจแดงสีม่วง
4.2 การทำสวนของคนเมืองมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความทันสมัยด้านเทคโนโลยี การจำหน่ายแบบดิจิทัลที่แพร่หลายมากขึ้น และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สามารถรองรับกับความต้องการดอกไม้ประดับ/ต้นไม้ในที่อยู่อาศัย โดยปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพ ความยั่งยืน ความน่าดึงดูดทางนิเวศวิทยา การเยียวยาความเครียดในเมือง และความพึงพอใจส่วนบุคคล ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการดอกไม้มาใช้ประดับตกแต่งที่อยู่อาศัย และสถานที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น
5. ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ แบ่งเป็น 6 ช่องทาง ได้แก่ 1) ร้านขายส่ง จำหน่ายดอกไม้หลากหลายพันธุ์ ทั้งประเภทตัดดอกและต้นที่ผลิตในอิตาลี และที่นำเข้าจากไทยและเนเธอร์แลนด์ 2) ร้านขายปลีก ให้บริการจัดดอกไม้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดอกไม้ที่นำเข้า และหาได้ค่อนข้างยาก ราคาค่อนข้างสูง 3) ร้านจำหน่ายดอกไม้ริมถนน โดยรับดอกไม้จากร้านขายส่ง เน้นดอกไม้ที่จำหน่ายทั่วไป ราคาไม่สูงมาก 4) ร้านค้าย่อยบนอินเตอร์เน็ต เป็นที่นิยมของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ สะดวกต่อการเลือกซื้อ มีราคาให้เลือกหลากหลาย 5) ฟาร์มกล้วยไม้ นิยมเพาะปลูกกล้วยไม้เลี้ยงเพื่อการสะสม เนื่องจากการผลิตกล้วยไม้ตัดดอกไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายในตลาด และ 6) ซูเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต มีการจัดพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ ดอกไม้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่จับจ่ายซื้อสินค้า ราคากล้วยไม้ไม่สูง แต่มีพันธุ์กล้วยไม้ให้เลือกไม่มาก
6. สถานการณ์ด้านการค้าสินค้ากล้วยไม้ ปี 2566 มูลค่าการค้ากล้วยไม้ตัดดอก (HS code 06031300) ของอิตาลีรวมทั้งสิ้น 12.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลดลง 9.79% โดยขาดดุลการค้าถึง 12.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอิตาลีนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอก จากทั่วโลกมีมูลค่า 12.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลดลง 9.67% ในขณะที่ อิตาลีส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกไปทั่วโลกมีมูลค่า 123,196 เหรียญสหรัฐฯ หดตัวลดลง 21% โดยแหล่งนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกที่สำคัญของอิตาลี 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 6.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ -0.05% อันดับ 2 ไทย มูลค่า 6.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ -17.55%อันดับ 3 ออสเตรีย มูลค่า 8,069 เหรียญสหรัฐฯ -22.61% และตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญของอิตาลี 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ฝรั่งเศส มูลค่า 39,983 เหรียญสหรัฐฯ -13.81% อันดับ 2 กรีซ มูลค่า 19,910 เหรียญสหรัฐฯ +30.74 และอันดับ 3 เยอรมนี มูลค่า 14,334 เหรียญสหรัฐฯ -29.43% ซึ่งจากสถิติดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อิตาลีนำเข้ากล้วยไม้มาเพื่อการบริโภคในประเทศมากกว่าการส่งออก และถึงแม้จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศเป็นหลัก และพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้ากล้วยไม้จากต่างประเทศ
7. ปัญหา อุปสรรคกล้วยไม้ไทยในการเจาะตลาดอิตาลี
7.1 ช่วงการให้ผลผลิตของกล้วยไม้ไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฤดูฝน ในขณะที่ อิตาลีนิยมใช้กล้วยไม้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการส่งออกกล้วยไม้ไทยในช่วงดังกล่าว ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอิตาลี และอาจทำให้ผู้นำเข้าอิตาเลียนหันไปนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ หรือดอกไม้ประดับพันธุ์อื่นทดแทน
7.2 ค่าระวางขนส่งทางเครื่องบินมีราคาแพง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกจากประเทศคู่แข่งเนเธอร์แลนด์ ทำให้ต้นทุนการส่งออกกล้วยไม้ไทยมีราคาสูง โดยเนเธอร์แลนด์มีการขนส่งดอกกล้วยไม้ และดอกไม้รายวันมายังอิตาลี ส่งผลให้กล้วยไม้มีความสดและคงทนมากกว่ากล้วยไม้ที่นำเข้าจากไทย
7.3 กฎระเบียบข้อบังคับของสหภาพยุโรปค่อนข้างเข้มงวด ในการตรวจนำเข้าแมลงศัตรูพืชในสินค้ากล้วยไม้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีรมควัน และจุ่มสารเคมี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออก ส่งผลให้ราคากล้วยไม้ที่นำเข้าจากไทยมีราคาจำหน่ายในอิตาลีสูงกว่าเมื่อเทียบกับกล้วยไม้ที่นำเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์
7.4 การผลิตกล้วยไม้โดยทั่วไปมีต้นทุนการผลิตที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้นำเข้าอิตาเลียนพิจารณาการนำเข้ากล้วยไม้ไทย ปัจจุบันผู้บริโภคในอิตาลีจะพิจารณาเรื่องราคาสินค้าเป็นสำคัญ มากกว่าคุณภาพ ความสด ความสวยงาม และคงทน
7.5 อิตาลีมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ปลูกดอกไม้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และลดการพึ่งพาการนำเข้าไม้ดอกจากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้ากล้วยไม้จากไทย ดังปรากฏตามข้อมูลตัวเลขนำเข้ากล้วยไม้จากไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
8. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
8.1 ไทยถือเป็นแหล่งนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกที่สำคัญของอิตาลีมาโดยตลอด (โดยจะสลับกับเนเธอร์แลนด์ ระหว่างอันดับ 1 และอันดับ 2) โดยตั้งแต่ปี 2562 อิตาลีนำเข้ากล้วยไม้จากไทยเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของการนำเข้ากล้วยไม้ของอิตาลีทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากล้วยไม้ไทยยังสามารถครองตลาดกล้วยไม้ในอิตาลีได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศคู่แข่งสินค้ากล้วยไม้ที่สำคัญที่สุดของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในด้านคุณภาพของกล้วยไม้ การพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปฏิบัติและติดตามกฎระเบียบข้อบังคับของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ากล้วยไม้อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีรายละเอียดข้อบังคับที่ค่อนข้างมาก ซับซ้อน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทยที่สนใจส่งออกมายังยุโรป/อิตาลี ดังนั้น การติดตามและศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้ากล้วยไม้มายังอิตาลีรวมถึงสถานการณ์การผลิตกล้วยไม้และความต้องการบริโภคกล้วยไม้ในอิตาลี ถือมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
8.2 กล้วยไม้ไทยมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ของดอกกล้วยไม้ ซึ่งเติบโตได้ดีในภูมิอากาศแบบเขตร้อน อีกทั้งไทยยังมีการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองตลาดอย่างต่อเนื่อง มีกำลังการผลิตกล้วยไม้ตัดดอกและกล้วยไม้เลี้ยง เพื่อการประดับตกแต่งจำนวนมาก โดยปี 2566 คาดการณ์ว่า พื้นที่ปลูกกล้วยไม้ไทยจะมีขนาดถึง 19,014 ไร่ +1.83% และจะมีผลผลิตกว่า 32,712 ตัน +2.39% อย่างไรก็ตาม ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา การขยายพื้นที่เพาะปลูกดอกไม้ทั่วไปในอิตาลี (รวมถึงกล้วยไม้) ที่มีขนาดรวมถึง 3 หมื่นเฮกตาร์ ก็อาจทำให้อิตาลีมีความต้องการกล้วยไม้จากไทยลดลง ดังนั้น ไทยควรเร่งพัฒนาสายพันธุ์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางการเกษตร ในการสร้างความแตกต่างให้กล้วยไม้ไทย รวมถึงให้มีความสวยงาม และคงทน และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันในด้านราคากับดอกไม้ในอิตาลี/ยุโรปได้
8.3 การสนับสนุนและส่งเสริมในการขยายตลาดกล้วยไม้มายังอิตาลีของภาครัฐ ผ่านการเข้าร่วมแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ในอิตาลี ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปิดโอกาสทางการค้า/การขยายตลาดสินค้ากล้วยไม้ไทยมายังตลาดอิตาลีเพิ่มขึ้น รวมถึงการศึกษาแนวโน้มความต้องการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเจาะตลาดกล้วยไม้ในอิตาลีอย่างมีประสิทธิภาพ
8.4 ปัจจุบันผู้บริโภคในอิตาลีรู้จักดอกกล้วยไม้ไทยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากร้านอาหารไทยในอิตาลีซึ่งส่วนใหญ่จะมีการประดับประดาร้านอาหารด้วยดอกกล้วยไม้ และใช้ดอกกล้วยไม้ในการตกแต่งจานอาหาร รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับกล้วยไม้ไทย สินค้ากล้วยไม้ไทย ให้แก่ผู้นำเข้า/หน่วยงาน/สมาคมค้าส่งดอกกล้วยไม้ของอิตาลี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานไทยในอิตาลี

zh_CNChinese