เคนยาเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 16% ในสินค้าขนมปังและนมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลเคนยาส่งผลกระทบค่าครองชีพพุ่งต่อเนื่องกับผู้มีรายได้น้อย

กระทรวงการคลังของเคนยาได้พิจารณาประกาศการเรียกเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 16 สำหรับสินค้าประเภทขนมปัง และนม เพื่อเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาลจากที่สินค้าประเทศดังกล่าวไม่เคยมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้โครงสร้างทางภาษีของเคนยา ไม่ได้มีการเก็บภาษีในสินค้าหลายประเทศที่ถูกจัดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น สินค้าประเภทอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย และอาหารสัตว์ โดยที่ผ่านมาสินค้าดังกล่าว ถือเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อช่วยเหลือประชากรที่รายได้ต่ำให้สามารถหาซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ในราคาถูก หากแต่รัฐบาลปัจจุบันอ้างว่า การไม่เรียกเก็บภาษีดังกล่าวกลับกลายเป็นว่าประโยชน์จากการไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นตกอยู่กับชนชั้นกลางและกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่

 

ทั้งนี้ ประมาณการว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดที่จัดเก็บในเคนยาคิดเป็นร้อยละ 40 ของรายได้ที่มาจากภาษีทั้งหมด และร้อยละ 18 ของภาษีมูลค่าเพิ่มถูกนำไปลดหย่อนคืนภาษีสำหรับสินค้าเพื่อผู้มีรายได้ต่ำสามารถซื้อมาบริโภคได้ แต่เมื่อได้มาวิเคราะห์ในเชิงลึกแล้วพบว่าร้อยละ 95 ของผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์จากสินค้าที่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ซึ่งแท้จริงแล้วจากการสำรวจพบว่า สินค้าขนมปังและนมที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้น ถูกซื้อโดยผู้มีรายได้สูงดังที่กล่าวไว้ข้างต้นมากกว่าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลมองว่าควรได้ประโยชน์จากยกเว้นดังกล่าวทำให้มีการประกาศจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ประชาชนจะเห็นว่า ราคาสินค้าขนมปังและนมที่วางขายในท้องตลาดจะมีราคาสูงขึ้นหลังจากเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินค้าทั้งสองชนิดนี้ได้ในราคาถูกเหมือนที่ผ่านมา จึงได้คิดว่าผู้บริโภคควรจะสามารถยื่นคำร้องขอคืนเงินส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าได้โดยตรงจากกรมสรรพากรโดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับ ณ จุดซื้อขาย จึงเป็นที่มาของการนำระบบการจัดการใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (eTIMS) หรือระบบเรียกคืนภาษีที่จะมีมาตรการนี้ให้กับผู้มีรายได้น้อยสามารถนำเอาใบเสร็จในการซื้อสินค้าของตนมาขอรับคืนภาษีได้ต่อไป โดยกำหนดเริ่มต้นใช้งานวันที่ 31 มีนาคม 2567

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกรมสรรพากรเคนยาได้ประกาศเปิดตัว eTIMS Lite โดยมีเป้าหมายไปที่ผู้รับจ้าง หรือแรงงานที่อยู่นอกระบบ โดยยกเว้นภาษีให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 5,000,000 เคนยาชิลลิ่ง โดยการยกเว้นดังกล่าวดำเนินงานผ่านใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์บนแพลทฟอร์ม eTIM ที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทุกคนที่ดำเนินธุรกิจในเคนยาต้องจัดทำและส่งใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ โดยระบบดังกล่าวมุ่งหวังการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และขณะเดียวกันก็มุ่งหวังว่า จะทำให้คนที่ไม่อยู่ในระบบภาษีหันมาเสียภาษีมากขึ้น ประกอบกับเพื่อให้รัฐบาลทราบข้อมูลรายรับรายจ่ายของภาคธุรกิจที่มักมีการปรับแต่งบัญชีเพื่อเลี่ยงภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่า มาตรการทางภาษีที่ว่านี้ จะช่วยให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และมีข้อมูลทีจะตรวจสอบภาคธุรกิจได้ดีขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดประชาชนที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อย อย่างเป็นที่กลัวกันหรือไม่อย่างไรต่อมาตรการดังกล่าวซึ่งคงต้องติดตามต่อไป

 

ความเห็นของ สคต.

 

การที่เคนยาพยายามจะปรับปรุงระบบภาษีของตนนั้น แสดงให้เห็นถึงการที่เคนยาพยายามปฎิบัติตามข้อแนะนำของธนาคารโลกและ IMF ในอันที่จะขอเงินกู้จาก 2 สถาบันดังกล่าว และลดภาระหนี้ของรัฐบาลที่นำมาลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพิ้นฐานในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น การที่เคนยาได้ประกาศว่าจะลดภาวะการขาดดุลงบประมาณจากปัจจุบันที่ขาดดุลกว่าร้อยละ 10-12 ต่อปี เป็นร้อยละ 3-4 ต่อปีในปี 2568 และ 2569 เพื่อสร้างสมดุลทางงบประมาณของรัฐบาลมากยิ่งขึ้นตามที่กล่าวมาข้างต้น มาตราการหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพของการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยเพิ่มภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าหลายประเภทที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บเนื่องจากจะมีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เช่น ที่จะเรียกเก็บในสินค้าขนมปังและนมตามมาตรการล่าสุดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งรัฐบาลพยายามจัดทำระบบให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถขอคินภาษีที่มีการเรียกเก็บในระบบ eTIMS Lite ทีจะเริ่มใช้ในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งในมุมมองของ สคต. นั้น ยังไม่เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะสามารถลดภาระของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ และจะยิ่งทำให้คนที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ประเทศจะได้รับผลกระทบต่อสินค้าที่จะมีราคาแพงมากขึ้น และกำลังชื้อจะยิ่งลดลงต่อไป ซึง สคต. จะได้ติดตามสถานการณ์ในเรื่องค่าครองชีพที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากยิ่งขึ้นจาก ราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นและภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงในเคนยาต่อไป

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

zh_CNChinese