เนื้อหาสาระข่าว: วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี หรือที่ในภาษาสเปนเรียกว่า Cinco de Mayo เป็นวันที่สำคัญสำหรับชาวเม็กซิกัน-อเมริกัน และคนที่มีเชื้อสายเม็กซิกันซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นวันที่เฉลิมฉลองชัยชนะในอดีตที่เม็กซิโกเคยมีต่อกองทัพฝรั่งเศสในสมัยยุคอาณานิคม แต่ที่มาของการเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้เริ่มต้นจากชาวเม็กซิกันที่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นวันเทศกาลสำคัญในสหรัฐฯในเวลาต่อมา ตั้งแต่ปี 1933 ภายใต้นโยบาย “Good Neighbor Policy” ที่สหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นมีความพยายามจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศและชุมชนชาวลาตินอเมริกา ทั้งนี้ Cinco de Mayo เป็นเพียงวันสำคัญวันหนึ่งในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่บางคนมักเข้าใจผิดและสับสนว่าเป็นวันประกาศเอกราช หรือวันชาติของเม็กซิโก
ด้วยความสำคัญของวัน Cinco de Mayo ที่ได้อธิบายไปข้างต้น เป็นที่มาของการที่คณะกรรมการมะม่วงแห่งชาติ (National Mango Board) ในสหรัฐฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสของวันสำคัญดังกล่าวซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองของชาวเม็กซิกัน-อเมริกัน ตลอดจนผู้ที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯทั่วไป เนื่องจากในช่วงวันที่ 5 พฤษภาคมจะสามารถพบเห็นตามห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารมีโปรโมชั่นที่จัดร่วมเพื่อให้เข้ากับ Cinco de Mayo เช่นกัน โดยคณะกรรมการดังกล่าวได้ออกแคมเปญที่ล้อไปกับชื่อของวันสำคัญว่า “Cinco de Mango” โดยมีจุดประสงค์ในการผลักดันการนำสินค้ามะม่วงมาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารและเครื่องดื่มในการเฉลิมฉลอง โดยเน้นไปที่อาหารของทางลาตินอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งในโอกาสนี้ทางคณะกรรมการมะม่วงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ประโยชน์ สรรพคุณ และคุณค่าทางโภชนาของมะม่วงเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ในมะม่วง และที่สำคัญยังได้ทำการรวบรวมและเผยแพร่เมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มีมะม่วงเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและการบริโภคมะม่วงในรูปแบบที่หลากหลายซึ่งเข้ากับเทศกาลเฉลิมฉลองและวัฒนธรรมการกินของชาวเม็กซิกันและลาตินอเมริกา
โดยในหน้าเว็บไซต์ได้เผยแพร่เมนูอาหารและเครื่องดื่ม ยกตัวอย่าง ดังนี้
“เมนู Easy Mango Tacos “
“ซอส Mango Caramel สำหรับของหวาน”
“เครื่องดื่ม Mangonada”
“เครื่องดื่ม Mango Michelada”
หมายเหตุ: ที่มาของรูปภาพ และสามารถดูเมนูทั้งหมดได้ที่ www.mango.org/cinco-de-mango
อนึ่ง คณะกรรมการมะม่วงแห่งชาติของสหรัฐฯ ประกอบด้วยผู้แทนในวงการและอุตสาหกรรมสินค้ามะม่วง ได้แก่ ตัวแทนผู้นำเข้า ตัวแทนผู้ผลิตในประเทศ ตัวแทนผู้ค้าคนกลาง และตัวแทนผู้ผลิตจากต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 18 ราย ถือเป็นหน่วยงานสำคัญซึ่งมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมสินค้ามะม่วงในตลาดสหรัฐฯ ทั้งสินค้ามะม่วงที่ผลิตภายในประเทศและมะม่วงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Fresh Produce Association of the Americas (FPAA) ตั้งแต่ปีค.ศ. 1990 จนกระทั่งได้แยกตัวออกมาเป็น คณะกรรมการมะม่วง ผ่านกระบวนการรับรองโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture: USDA) ในปีค.ศ. 2004 โดยในปัจจุบันทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาสินค้ามะม่วงในตลาดสหรัฐฯ บริการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้ามะม่วงทั้งหมดแก่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ตลอดจนทำการประเมินและตรวจสอบคุณภาพสินค้ามะม่วงที่ผลิตในประเทศและนำเข้าโดยทำงานร่วมกับกรมศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs)
บทวิเคราะห์: แม้จะดูเหมือนว่าแคมเปญในครั้งนี้จะส่งเสริมการบริโภคสินค้ามะม่วงแค่เพียงเฉพาะกลุ่มชาวเม็กซิกัน-อเมริกัน และผู้ที่มีเชื้อสายเม็กซิกันในสหรัฐฯ แต่ข้อมูลที่ควรทราบคือชาวเม็กซิกัน-อเมริกันนั้นคือกลุ่มเชื้อชาติที่มากที่สุดในบรรดาประชาการกลุ่มฮิสแปนิก (Hispanic) หรือผู้ที่มีเชื้อสายลาตินอเมริกันด้วยกัน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของทั้งหมด โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีชาวเม็กซิกัน-อเมริกันอยู่กว่า 37 ล้านคน ในสหรัฐฯ ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอเนียและเท็กซัสมากที่สุด ด้วยข้อมูลเชิงประชากรที่ได้กล่าวมานั้นทำให้สามารถพิจารณาได้ว่าแคมเปญ Cinco de Mango นี้ จะเป็นแคมเปญที่อาจช่วยส่งเสริมการบริโภคสินค้ามะม่วงได้กลุ่มประชากรดังกล่าว ซึ่งถือว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
แผนภาพที่ 1: แสดงข้อมูลรัฐที่มีจำนวนประชากรชาวเม็กซิกัน-อเมริกันมากที่สุด 10 อันดับแรก
อย่างไรก็ตาม จากการที่มะม่วงนั้นถือเป็นผลไม้เมืองร้อน (Tropical Fruit) ทำให้ในปัจจุบันสินค้ามะม่วงส่วนมากในสหรัฐฯ มาจากการนำเข้า โดยมีสัดส่วนสินค้ามะม่วงที่ผลิตในประเทศน้อยมากเนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของหสรัฐฯ จากการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีเพียงในรัฐฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส ฮาวายบางส่วน และเปอร์โตริโกเท่านั้นที่พบการเพาะปลูกและผลิตมะม่วงในสหรัฐฯ
สำหรับข้อมูลการนำเข้าสินค้ามะม่วงของสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในแผนภาพด้านล่างจะพบว่าในปัจจุบันสหรัฐฯมีการนำเข้าสินค้ามะม่วงใน 3 ชนิดสินค้าด้วยกัน ได้แก่ สินค้ามะม่วงสด (Fresh Mango) สินค้ามะม่วงอบแห้ง (Dried Mango) และสินค้ามะม่วงแช่แข็ง (Frozen Mango) ซึ่งเม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในทั้งสามชนิดสินค้ามูลค่าเกินกว่าร้อยละ 50 ของตลาดทั้งหมด โดยมีประเทศในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้เป็นผู้ส่งออกลำดับรองลงมา ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้ามะม่วงอบแห้งมากเป็นอันดับที่สองในชนิดสินค้าเดียวกัน แต่การส่งออกสินค้ามะม่วงสดและแช่แข็งยังมีมูลค่าน้อยกว่ามาก
แผนภาพที่ 2: แสดงข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าสินค้ามะม่วงแช่แข็งมายังสหรัฐฯ จากประเทศต่าง ๆ
แผนภาพที่ 3: แสดงข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าสินค้ามะม่วงสดมายังสหรัฐฯ จากประเทศต่าง ๆ
แผนภาพที่ 4: แสดงข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าสินค้ามะม่วงอบแห้งมายังสหรัฐฯ จากประเทศต่าง ๆ
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ปัจจุบันสินค้ามะม่วงของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 8 ชนิดผลไม้ที่ได้ผ่านการตรวจสอบเชิงคุณภาพความปลอดภัย ซึ่งได้รับอนุญาตกระบวนการตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก (Preclearance Program) มายังสหรัฐฯ และแม้จะเป็นที่นิยมในวงกว้างในฐานะอาหารหวานที่มีชื่ออย่าง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ที่ชาวอเมริกันรู้จักอย่างแพร่หลายนั้น แต่สำหรับตัวมะม่วงของประเทศไทยเองยังคงได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม และยังพบได้ไม่แพร่หลายเท่าที่ควรตามห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับสินค้ามะม่วงไทย บางส่วนแสดงข้อกังวลสินค้ามะม่วงสดจากประเทศไทยในแง่ของคุณภาพ ราคา และการขนส่งสินค้า จากการที่ส่งสินค้ามาระยะทางค่อนข้างไกล ซึ่งอาจส่งผลต่อความสดใหม่ของตัวสินค้า หรือตัวระบบขนส่งที่จะถนอมคุณภาพสินค้าไว้ให้ได้นานก็ทำให้ราคาต้นทุนยิ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับสินค้ามะม่วงจากประเทศแถบลาตินอเมริกา อย่างไรก็ตามคุณภาพของสินค้ามะม่วงจากประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างจากมะม่วงท้องถิ่นหรือมะม่วงจากลาตินอเมริกาในหลายประการที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นผลจากปัจจัยของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน คุณภาพของดิน และการเพาะปลูกที่ไม่เหมือนกัน ที่ทำให้สินค้ามะม่วงจากประเทศไทยมีรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ และไม่ใช่สินค้าที่ทดแทนได้โดยสมบูรณ์จากสินค้ามะม่วงของประเทศอื่น ๆ
ผู้ประกอบการสินค้ามะม่วงไทยที่สนใจส่งออกสินค้ามะม่วงมายังสหรัฐฯ โดยเฉพาะมะม่วงสดควรพัฒนาระบบการขนส่งสินค้ามะม่วงสุกจากไทยมายังสหรัฐฯ ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดทั้งในเชิงคุณภาพและราคา เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าในตลาดสหรัฐฯ (ลองคิดดูเล่นๆ ว่าเขาทำอย่างไรในการส่งออกผลกีวีจากทวีปออสเตรเลียไปขายได้ทั่วทุกมุมโลกทั้งที่ผลกีวีมีความแบบบางมากกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยเสียอีก) นอกจากนี้ควรเพิ่มมิติความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มะม่วงไทยให้มากขึ้นไปกว่าแค่เป็น น้ำผลไม้ ผลไม้กระป๋อง ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง หรือ freeze dried อาทิเช่น เนื้อมะม่วงปั่นสำหรับทำขนมหวานหรือค๊อกเทล ทั้งนี้ การศึกษาวัฒนธรรมการกินที่หลากหลายของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ก็อาจจะสามารถนำเอาเอกลักษณ์ของมะม่วงไทยที่มีความหลากหลายในสายพันธุ์มารังสรรค์เป็นเมนูที่แปลกใหม่เฉกเช่นที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ในสินค้ามะม่วงไทยผ่านการบริโภคในตลาดต่างประเทศ โดยอาจเริ่มต้นจากอาศัยโอกาสกระแสนิยมที่ถูกสร้างขึ้นแล้วในสหรัฐฯ
ที่มา: ABASTO, HISPANIC FOOD AND BEVERAGE INDUSTRY NEWS
主题: “National Mango Board Kicks Off Cinco de Mango Celebration”
สคต. ณ เมืองไมอามี /วันที่ 1 พฤษภาคม 2567