จากประเด็นร้อนแรงที่ได้มีการหยิบยกมาพูดคุย ในช่วงระหว่างการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร CIBUS 2024 ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567) ณ เมืองปาร์มา เกี่ยวกับการส่งออกอาหารของอิตาลี ซึ่งถือเป็นหนึ่งภาคการส่งออกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ISTAT) พบว่า ปี 2566 อิตาลีส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลก มีมูลค่ามากกว่า 53 พันล้านยูโร หรือขยายตัว +6.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 ถึงแม้ปริมาณการส่งออกหดตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ สินค้าอาหาร Made in Italy ยังคงต้องเผชิญกับคู่แข่งขันในภาคอุตสาหกรรมอาหารอย่างดุเดือด เนื่องจากการแข่งขันจากประเทศยุโรปรายใหญ่อื่น ๆ ในอุตสาหกรรมดังกล่าว กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอาหาร Made in Italy ถือเป็นสินค้าอาหารที่มีคุณภาพและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ส่งผลให้สินค้าอาหาร Made in Italy มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วทุกมุมโลก
Mr. Antonio Cellie ผู้บริหาร ศูนย์แสดงสินค้า Fiere di Parma กล่าวว่า อิตาลีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ของตลาดอาหารโลก เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการประเมินความสามารถในการแข่งขันในตลาดสินค้าอาหารเกษตรในปัจจุบัน โดยได้มีการจัดทำข้อมูลร่วมกับสหพันธ์อุตสาหกรรมอาหารอิตาลี (Federalimentare) และมหาวิทยาลัยคาทอลิก ซึ่งได้จัดทำรายละเอียดการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของประเทศอื่น ๆ ทั้งในสหภาพยุโรปและนอกสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งของอิตาลีอยู่แล้ว หรือประเทศที่อิตาลีจะต้องทำการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยรายละเอียดดังกล่าวทำให้อิตาลีเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา อิตาลีส่งออกสินค้าอาหารเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับฝรั่งเศส และเยอรมนี ในขณะเดียวกัน พบว่าประเทศคู่แข่งในอดีตอย่างสเปน หรือโปแลนด์ที่การส่งออกมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเช่นกัน นอกเหนือการส่งออกของประเทศคู่แข่งนอกสหภาพยุโรปแล้ว พบว่าการแข่งขันที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือ การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมจากประเทศส่งออกที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูง แบบเดียวกับมาตรฐานที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาฆ่าแมลงไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์แบบเข้มข้น หากยุโรปซึ่งยังคงเป็นทวีปชั้นนำของโลกในด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร (มีส่วนแบ่งทางการตลาด คิดเป็นสัดส่วน 40.4%) ยังสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ ก็อาจจะทำให้ยังมีพื้นที่เหลือสำหรับอิตาลี ในการขยายมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเกษตรไปทั่วโลก
ปัจจุบัน สินค้า Made in Italy ไม่เพียงต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศเกิดใหม่เท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าท้องถิ่นอิตาลี ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีจำนวนบริษัทที่ได้ทำการศึกษา ในการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับไวน์และมะเขือเทศออร์แกนิก/น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ที่มีการผลิตในเมืองแคลิฟอร์เนีย รวมถึงพาสต้าสดที่ผลิตในสหราชอาณาจักร หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ชีสสด (burrata) ที่ผลิตในยุโรปทางตอนเหนือ หรือในสหรัฐอเมริกา โดยประเทศผู้ผลิตดังกล่าวกำลังเรียนรู้ ในการพัฒนาคุณภาพสินค้าอาหารซึ่งใช้เทคโนโลยีของอิตาลี โดยในอนาคตอันใกล้ประเทศดังกล่าวจะกลายเป็นคู่แข่งที่แท้จริงของอิตาลี เพราะเน้นการใส่ใจในคุณภาพของสินค้ามากที่สุด ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้อิตาลียังคงเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก สำหรับอัตราการเติบโตของการส่งออกอาหารอิตาลียังคงมีแนวโน้มที่สูงอยู่ โดย Mr. Cellie อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นเวลา 10 ปี ที่อิตาลีใช้ตัวชี้วัดสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก จากการบริโภคอาหารเกษตร Made in Italy ในตลาดต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ชาวเยอรมัน ชาวฝรั่งเศส ชาวสวิส และชาวอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 80-110 ยูโร/คน ในขณะที่ ชาวญี่ปุ่น และชาวอเมริกัน ใช้จ่ายเพียง 10-20 ยูโร/คน/ปี เท่านั้น แต่เมื่อพูดถึงทวีปเอเชียและแอฟริกา กลับพบว่ามีการใช้จ่ายไปกับสินค้าอาหารเกษตร Made in Italy ไม่ถึง 1 ยูโร/คน/ปี ดังนั้น การที่ผู้ซื้อชาวเอเชียกลับเข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าอาหาร CIBUS เพิ่มขึ้นอีกครั้ง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อิตาลีได้ดำเนินการในประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (เป็นพื้นที่ที่มีประชาการมากที่สุดในโลก) มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นเปิดประตูรับสินค้าอาหารเกษตรของอิตาลีเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันประเทศในตะวันออกกลาง ถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าอาหารเกษตรของอิตาลีที่สำคัญ ที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจที่สุด และยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มที่ค่อนข้างดี รวมถึงเกาหลีใต้และทุกประเทศในพื้นที่อาเซียนก็มีสัญญาณเชิงบวก แต่อย่างไรก็ตาม อิตาลีจำเป็นต้องรับมือกับอุปสรรคด้านภาษี และที่ไม่ใช่ภาษี กับบางประเทศนอกสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นเหตุผลสำคัญที่อิตาลีต้องรีบดำเนินการตามข้อตกลงทวิภาคี เพื่อให้การส่งออกสินค้าอาหารเกษตรอิตาลีสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยอิตาลีมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกับอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ พร้อมที่จะซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเกษตร Made in Italy ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการอิตาลีหลายรายที่ผลิตสินค้าอาหารเกษตรฮาลาล Made in Italy ให้แก่ผู้บริโภคชาวมุสลิมแล้ว
Mr. Cellie ได้สรุปว่า อิตาลีตระหนักถึงบทบาทผู้นำในด้านคุณภาพและความยั่งยืน โดยมีปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ ที่ยังทำให้อิตาลียังคงเป็นประเทศส่งออกสินค้าอาหารเกษตรที่สำคัญของโลก ได้แก่ 1) ความยืดหยุ่น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในอิตาลี สามารถผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันในภูมิภาคต่างๆ 2) ความน่าเชื่อถือ การส่งมอบสินค้าตามกำหนดเวลา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และ 3) ความก้าวหน้าและความพร้อมในการจัดหาวัตถุดิบภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการลงทุนในด้านการเกษตรและห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น จึงทำให้อิตาลีลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. การที่อิตาลีได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่าเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารเกษตรที่สำคัญและมีคุณภาพ จึงส่งผลให้มีสินค้าอาหารเกษตรของอิตาลีวางจำหน่ายให้เห็นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงจะพบว่ามีร้านอาหารอิตาเลียนเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นเครื่องยืนยันว่า สินค้าอาหารเกษตรของอิตาลีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมด้านอาหารของประเทศต่าง ๆ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพาสต้า ไวน์ ชีส แฮม น้ำมันมะกอก นอกจากนี้ อิตาลียังให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีการจัดงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติที่สำคัญทุกปี ได้แก่ งาน TUTTOFOOD ณ เมืองมิลาน และ งาน CIBUS ณ เมืองปาร์มา รวมถึงการจัดนิทรรศการด้านอาหารในเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาหารอิตาเลียนให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก และเปิดโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารอิตาลี ให้สามารถขยายการส่งออกสินค้าอาหารเกษตรเพิ่มขึ้นในตลาดโลก ซึ่ง สคต. ณ เมืองมิลาน เห็นว่า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารไทย ควรใช้โอกาสนี้ในการมาร่วมงานดังกล่าว เพื่อศึกษาความเป็นเลิศทางด้านสินค้าอาหารของอิตาลี รวมถึงเพื่อศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในอิตาลีและยุโรป
2. ประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านอาหารที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย การที่ไทยสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารเกษตรไปยังต่างประเทศอื่น ๆ ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX – ANUGA ASIA การจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารในต่างประเทศทั่วโลก และการประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารไทย ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำด้านอาหาร และผลักดันให้สินค้าอาหารเกษตรไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกได้ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั่วโลกให้การยอมรับสินค้าอาหารไทยภายใต้คำว่า “Product of Thailand” สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารเกษตรไทยไปในยุโรปมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการนำเข้าอาหารมากที่สุดในโลก การที่สหภาพยุโรป ผลักดันให้คู่ค้าต้องมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นกระแสที่ผู้บริโภคยุโรปเรียกร้อง และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยในอนาคตคาดว่าสหภาพยุโรปจะเพิ่มความเข้มงวดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ การใช้ยาปฏิชีวนะ สารปราบศัตรูพืชที่ไม่ได้รับอนุญาต และการบังคับใช้แรงงานหรือสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรฐานต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น และเผชิญอุปสรรคทางการค้าเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้สินค้าเกษตรไทยได้รับการยอมรับและเกิดความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคยุโรป ซึ่งจะส่งผลดีไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของไทยไม่มากก็น้อย
3. กลยุทธ์การส่งเสริมอาหาร Made in Italy ของอิตาลี มีแนวทางที่น่าสนใจ และสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลเป็นรูปธรรม ทำให้ทั่วโลกยอมรับสินค้าอาหาร Made in Italy ดังนั้น นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก (Thailand Kitchen to the World) จึงยังคงเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันและขยายมูลค่าการส่งออกของสินค้าอาหารไทยให้เติบโตมากขึ้น และช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทย (Product of Thailand) ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดสากลมากขึ้น
——————————————————————-
ที่มา: 1. Export alimentare oltre 53 miliardi, ma la concorrenza estera cresce – Il Sole 24 ORE
2. https://www.cibus.it/wp-content/uploads/2024/03/CS-CIBUS-19.03.24.pdf
แหล่งที่มาของรูปภาพ : EFA News – European Food Agency