เนื่องด้วยไม้ยางพารากลายเป็นวัสดุพื้นฐานสำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์สั่งทำในจีน อีกทั้งประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตและการค้าคาร์บอนมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมไม้ยางพาราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอน ทั้งยังเป็นไม้คุณภาพสูงและเป็นไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการจีนหันมานิยมใช้ไม้ยางพาราในการผลิตเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม้ยางพาราสามารถใช้ในการผลิตสินค้าที่ทำจากไม้เกือบทุกประเภท เช่น เตียง โต๊ะทานข้าว ตู้เสื้อผ้า เครื่องตกแต่งบ้าน ไม้แขวนเสื้อ ของเล่น และเขียง เป็นต้น ทั้งนี้ จึงเป็นสาเหตุที่ไม้ยางพารา เป็นประเภทไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด ปัจจุบันสินค้าไม้ยางพารานำเข้าของจีนส่วนมากจะมาจากประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ และมีบางส่วนที่ปลูกในจีน โดยในปี 2566 จีนมีพื้นที่ปลูกไม้ยางพาราถึง 1,124,000 เฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 8.54 ของโลก ไม้ยางพาราที่ปลูกในจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่มณฑลไหหลำ ส่วนมณฑลกวางสีปลูกค่อนข้างน้อย มณฑลไหหลำมีพื้นที่ปลูกไม้ยางพารา 518,666.67 เฮกตาร์ สามารถตัดไม้ยางพาราได้ราวๆ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปึ อย่างไรก็ตาม แม้ไม้ยางพาราจากมณฑลไห่หนานของจีนจะมีปริมาณมาก แต่เนื่องจากรัฐบาลจีนอนุญาตให้เอกชนตัดไม้ยางพาราได้เพียง 480,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานภายในจีนแล้ว ต้นยางพารายังมีอายุขัยสั้น เส้นผ่าศูนย์กลางเล็ก และมีมูลค่าการใช้ประโยชน์ต่ำอีกด้วย อีกทั้งสวนเพาะปลูกมีที่ตั้งกระจัดกระจาย  จึงเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ในด้านการรับซื้อและโลจิสติกส์ของโรงงานแปรรูปไม้อีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นเพียงแหล่งวัตถุดิบรองเท่านั้น ไม่สามารถเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของโรงงานขนาดใหญ่ได้

ในส่วนของการนำเข้าไม้ยางพาราของไทย เนื่องจากอุปทานในไทยมีความเสถียรภาพ  อีกทั้งราคาเหมาะสมกับคุณภาพ ส่งผลให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม้ยางพาราไทยได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าไม้แปรรูปที่จีนมีการนำเข้ามากที่สุด ตามข้อมูลล่าสุดของกรมศุลกากร ระบุว่า การนำเข้าไม้ยางพาราไทยของจีนมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 โดยเพิ่มขึ้น 32%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ารวมเกิน 1.69 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่ารวม 429 ล้านดอลลาร์ จากปริมาณการค้ายังแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของการนำเข้าไม้ยางพาราจากไทยของตลาดจีน และแนวโน้มการเติบโตนี้แสดงให้เห็นว่าความต้องการของตลาดจีนสำหรับไม้ยางพาราของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยจีนมีการนำเข้าไม้ยางพาราของไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาไม้ยางพาราในตลาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือน จากสถิติในเดือนมกราคมปีนี้ ราคาไม้ยางพารา (CIF) อยู่ที่ 241 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลูกบาศก์เมตร หลังจากเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.78% มาอยู่ที่ 247 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ลูกบาศก์เมตร ในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 3.37% เป็น 253 เหรียญสหรัฐฯ/ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มขึ้นอีก 0.07% ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 260 เหรียญสหรัฐฯ/ลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ดี แม้ว่าไม้ยางพาราไทยจะมีศักยภาพสูงในตลาดจีน แต่ผู้ประกอบการค้าไม้ของไทยก็เผชิญกับความท้าทายบางประการเช่นกัน อาทิ ต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการไม้ยางพารามีกำไรน้อยลง และปริมาณการส่งออกไม้ยางพาราของไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการเป็นจำนวนมากของตลาดจีน ในระยะสั้น อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดจีน และอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา  การส่งออกของตลาดไม้ยางพาราไทยในระยะยาว

สำหรับแนวโน้มการนำเข้าไม้ยางพาราของตลาดจีนนั้น เนื่องจากชาวจีนมีแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้างบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สวยงาม และทนทาน ซึ่งไม้ยางพารามีคุณสมบัติทางกายภาพที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น มีความแข็งแรงสูง เนื้อสัมผัสสวยงาม ทนทานต่อการกัดเซาะของน้ำ และทนต่อการกัดกร่อน การนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลายและที่สำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ จีนได้มีการออกนโยบายสนับสนุนการพัฒนาตลาดไม้ยางพารา อาทิ การออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ไม้ยางพาราเป็นที่นิยมและมีความต้องการสูงขึ้นอย่างมาก จนนำไปสู่การขยายการเติบโตของตลาดอย่างมาก และเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาตลาดไม้ยางพาราอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อประโยช์ต่อการส่งออกไม้ยางพาราของไทย รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-จีน ยังคงมีความแนวแน่น อีกทั้งความต้องการไม้ในตลาดจีนยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจีนจะยังคงรักษาแนวโน้มการนำเข้าไม้ยางพาราของไทยอย่างมีเสถียรภาพต่อไปได้

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้มายังจีนรายใหญ่ที่สุด จากสถิติพบว่าร้อยละ 90 ของไม้แปรรูปจากยางพาราของไทยส่งออกมายังจีน และการค้าระหว่างไทย-จีนในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ยางพาราของไทยเป็นมูลค่าคงที่อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 3 ของมูลค่ารวมที่จีนนำเข้าสินค้าจากไทย ไม้ยางพาราไทยเป็นไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้ม คุณภาพดี และมีความยั่งยืน แหล่งผลิตสำคัญส่วนใหญ่มาจากไทย เนื่องจากไม้ยางพารามีอุปทานที่เสถียร มีความคุ้มค่าทางราคาสูง และค่อนข้างใช้กันอย่างแพร่หลายในจีน จึงได้รับความนิยมในตลาดจีนเป็นอย่างมาก ผู้ค้าไม้ในจีนจึงเข้ามาในไทยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ได้ข้อมูลการจัดหาวัตถุดิบแบบเรียลไทม์ อุปทานมีเสถียรภาพ และมีข้อได้เปรียบด้านราคาอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกัน มีการตระหนักรู้ในด้านการแลกเปลี่ยนสิทธิปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมไม้ยางพาราจึงมีบทบาทในการลดและตรึงการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก

ปัจจุบัน ยอดสั่งซื้อของผู้ผลิตไม้ยางพาราหลายเจ้าในไทยอยู่ในสภาวะเต็มกำลังการผลิต โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อจากตลาดจีน เวียดนาม และตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ปลายปีจนถึงต้นเดือนเมษายน ไม้ยางพารามีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง จึงคาดการณ์ว่าการนำเข้าไม้ยางพาราจากไทยของจีนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงที่อุปสงค์ต่อไม้ยางพาราในตลาดจีนต่ำซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองของปี จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าไม้ยางพาราของจีนจากไทย

ในระยะสั้น แม้ว่าผลผลิตในจีนอาจจะยังไม่เพียงต่อความต้องการ ทำให้จีนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เนื่องด้วยจีนมีความต้องการไม้ยางพาราสูงอาจทำให้จีนต้องหาแหล่งวัตถุดิบไม้ยางพาราเพิ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีน ซึ่งอาจจะทำให้ไม้ยางพาราไทยมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศเพื่อให้การขนส่งเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรักษาคุณภาพให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานของจีน และปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการที่แข็งแกร่งในตลาดจีนได้อย่างมีศักยภาพ เพื่อที่จะสามารถครองสัดส่วนตลาดต่อไปในระยะยาว รวมถึงผู้ประกอบการและภาครัฐควรติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างต่อเนื่อง และควรทำการสำรวจตลาดและพบผู้นำเข้าในจีน  เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดจากผู้ประกอบการในจีน เพื่อที่จะสามารถหาโอกาสในการขยายตลาดไม้ยางพาราให้เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต

 

ที่มา: https://www.sohu.com/a/774915241_120504278

https://www.renrendoc.com/paper/329605877.html https://mp.weixin.qq.com/s/vMHcLya-bJqGGk5p0dAiWA

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1797749425967647997&wfr=spider&for=pc

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

zh_CNChinese