เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 รายงานสถิติอาหารประจำปี 2566 ของสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) ระบุว่า ผลผลิตในภาคเกษตรกรรมสิงคโปร์ลดลง เป็นผลมาจากความท้าทายในการสร้างฟาร์มในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และต้นทุนค่าแรง ส่งผลให้การผลิตผักและอาหารทะเลในสิงคโปร์ลดลง แต่จำนวนฟาร์มผัก และการผลิตไข่ในประเทศเพิ่มขึ้น
ในปี 2566 การผลิตผักในสิงคโปร์คิดเป็น 3.2% ของการบริโภคอาหารทั้งหมด ซึ่งลดลงจาก 3.9% ในปี 2565 ถึงแม้ว่าจำนวนฟาร์มจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 111 แห่งในปี 2565 เป็น 115 แห่ง ในปี 2566 ฟาร์มผัก VertiVegies ได้ยกเลิกแผนการสร้างฟาร์มในร่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสิงคโปร์ใน Lim Chu Kang โดยอ้างถึงปัญหากับหุ้นส่วนร่วมทุนบริษัทเกษตรกรรมของจีน SananBio ทั้งนี้ บริษัทได้คืนที่ดินขนาด 2 เฮกตาร์ ให้กับ SFA ในเดือนเมษายน 2565 จากเดิมฟาร์มผักดังกล่าวตั้งใจที่จะผลิตผักประมาณหกตันต่อวัน รวมถึงผักยอดนิยมในสิงคโปร์ เช่น ผักกาดใบเขียว (Xiao Bai Cai) ผักกาดขาว (Bai Cai) และกะหล่ำปลี หากฟาร์มดังกล่าวสร้างเสร็จ จะช่วยเพิ่มการผลิตผักในท้องถิ่นได้ถึง 10%
SFA พยายามจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการเลี้ยงปลาในน่านน้ำทางใต้ เนื่องจากบริษัทเลี้ยงปลากะพงขาว Barramundi Group มีแผนจะเลิกกิจการ เนื่องจากประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันด้านต้นทุนและผลกำไรในระยะยาว และโรคไวรัสได้ฆ่าปลาไปเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทได้หยุดทำฟาร์มในสิงคโปร์ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 และจะมุ่งเน้นไปที่การขยายธุรกิจการเลี้ยงปลาในบรูไนแทน แต่บริษัทจะยังดำเนินการวิจัยและพัฒนาบนเกาะเซนต์จอห์นต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2566 จำนวนฟาร์มอาหารทะเลที่ตั้งในทะเลลดลงจาก 109 แห่ง เหลือ 98 แห่ง และจำนวนฟาร์มอาหารทะเลบนบกเพิ่มขึ้นจาก 27 แห่ง เป็น 33 แห่ง ในขณะที่ การผลิตอาหารทะเลลดลงจาก 7.6% ในปี 2565 เป็น 7.3% ในปี 2566
ในทางตรงกันข้าม ในปี 2566 การผลิตไข่ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น คิดเป็น 31.9% ของการบริโภคอาหาร เพิ่มขึ้นจาก 28.9% ในปี 2565 ถึงแม้ว่าฟาร์มไข่แห่งที่สี่ ISE Foods Holdings (IFH) ที่มีเป้าหมายที่จะครอบคลุมระบบนิเวศการผลิตไข่ทั้งหมดของสิงคโปร์กำลังเผชิญความล่าช้าในการก่อสร้างซึ่งจากเดิมที่มีแผนการเปิดในปีนี้
SFA กล่าวว่า สิงคโปร์นำเข้าอาหารมากกว่า 90 % ทำให้เสี่ยงต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจากการระบาดของโรค การตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลต่างประเทศ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะผลิตอาหารให้ได้ถึง 30% ของความต้องการทางโภชนาการในประเทศภายในปี 2573 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้เพิ่มจำนวนแหล่งนำเข้าอาหารในปีที่ผ่านมา จาก 183 ประเทศในปี 2565 เป็น 187 ประเทศในปี 2566 เช่น สเปนได้รับการอนุมัติให้เป็นแหล่งเนื้อแกะแห่งใหม่ ตุรกีเป็นแหล่งไข่แห่งใหม่ และอินโดนีเซียเป็นแหล่งไข่และไก่สดแห่งใหม่ โดย SFA ยังคงมองหาแหล่งนำเข้าใหม่ ๆ และส่งเสริมความหลากหลายในอุตสาหกรรมผ่านความคิดริเริ่มต่าง ๆ เช่น การเดินทางหาแหล่งนำเข้า และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ
ที่ปรึกษาด้านการเกษตรนาย Lee Eng Keat ตั้งข้อสังเกตว่าสิงคโปร์ขาดแคลนคนงานด้านการผลิตในฟาร์ม ในปัจจุบันไม่มีจำนวนชาวสิงคโปร์เพียงพอที่จะทำงานด้านนี้ แต่การว่าจ้างแรงงานทักษะต่ำจากต่างประเทศอาจจะไม่เป็นที่ต้องการในมุมมองทางสังคม ในขณะเดียวกัน ต้นทุนทั้งด้านพลังงานและเงินทุนที่เพิ่มขึ้นได้สร้างความท้าทายต่อการเติบโตในกลุ่มฟาร์มในประเทศ บริษัทที่จะเติบโตได้จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยบางประการ เช่น การสร้างแบรนด์ที่สามารถควบคุมราคาได้ระดับพรีเมียม การรักษาต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และการรักษากระแสเงินสดที่เป็นบวก ซึ่งฟาร์มที่สามารถเพิ่มการผลิตจะพลิกฟื้นระดับการผลิตในอนาคตได้
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
สิงคโปร์กำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารจากการผลิตผักและอาหารทะเลในประเทศลดลง จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบไทยผลิตสินค้ากลุ่มไข่ไก่ ผักสด และอาหารทะเลในการขยายตลาดมายังสิงคโปร์ แต่ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์ยังแสวงหาแหล่งนำเข้าใหม่ ๆ เพื่อกระจายตลาดนำเข้า ซึ่งจะเพิ่มการแข่งขันด้านราคาระหว่างประเทศผู้ส่งออกเช่นกัน นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารมายังสิงคโปร์ ผู้ประกอบการควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[1] โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพ ฉลากผลิตภัณฑ์ ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การแปรรูป เพื่อการผลิตส่งออกที่ได้มาตรฐาน และติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :
https://www.straitstimes.com/singapore/s-pore-vegetable-seafood-production-fell-in-2023-due-to-construction-challenges-inflation-sfa
[1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports