ปธน. ฟิลิปปินส์อนุมัติแผนลดภาษีนำเข้าข้าวลงเหลือร้อยละ 15 จนถึงปี 2571

                          นาย Arsenio Balisacan เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NEDA) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งมีประธานาธิบดี  เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เป็นประธานได้อนุมัติโครงการภาษีศุลกากรที่ครอบคลุมฉบับใหม่สำหรับปี 2567-2571 (The New Comprehensive Tariff Program for 2024 – 2028) โดยหนึ่งในแผนการปรับภาษีศุลกากรจะมีการลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวทั้งในโควตาและนอกโควตาจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถเข้าถึงอุปทาน และสร้างสมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตในท้องถิ่น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ได้ตั้งเป้าที่จะลดราคาข้าวลงเหลือ 29 เปโซต่อกิโลกรัมเพื่อประโยชน์แก่ครัวเรือนยากจน ด้วยการอุดหนุนโดยตรงแก่คนยากคนจนและผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบางเพื่อให้สามารถเข้าถึงอาหาร (ข้าว) ได้ และสิ่งสำคัญโดยภาพรวมเมื่ออัตราภาษีนำเข้าข้าวลดลงจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15 ประชาชนทุกคนจะได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ อัตราภาษีนำเข้าข้าวที่ลดลงมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดราคาข้าวในท้องตลาดลงเหลือ 29 เปโซต่อกิโลกรัมสำหรับครัวเรือนที่ยากจน รวมถึงผู้รับผลประโยชน์จากโครงการ Pantawid Pamilyang Pilipino Program (4Ps) เท่านั้น

                  เลขาธิการ NEDA กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนการผลิตข้าวในประเทศต่อไปผ่านระบบการจัดเก็บภาษี        นำเข้า รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตร โดยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ จะออกคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) เพื่อดำเนินโครงการภาษีใหม่ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ข้าวมีส่วนต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศมากกว่าร้อยละ 50 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในตะกร้าการบริโภคของครัวเรือน          ชาวฟิลิปปินส์ และปัจจุบันข้าวสารทั่วไปมีราคาขายปลีกสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 49 – 51 เปโซต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ NEDA ให้คำมั่นว่าอัตราภาษีนำเข้าข้าวที่ลดลงจะไม่ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง แต่จะช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปรับปรุงสวัสดิการของครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางที่สุด นอกจากนี้ เลขาธิการ NEDA กล่าวว่ารัฐบาลจะยังคงสามารถเก็บภาษีนำเข้าจำนวนมากสำหรับกองทุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันข้าว (RCEF) ได้ แม้ว่าโครงการ Comprehensive Tariff Program จะได้รับอนุมัติก็ตาม เนื่องจากอัตราภาษีที่ลดลงแล้วยังคงอยู่ที่ร้อยละ 15 และหากราคาข้าวที่นำเข้ายังมีราคาสูงก็จะยังคงมีรายได้จากการเก็บภาษีตามอัตราดังกล่าวค่อนข้างมากสำหรับกองทุน RCEF ทั้งนี้ ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ จะยังคงเก็บภาษีสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น น้ำตาลและผัก เช่น หัวหอม กระเทียม บรอกโคลี แคร์รอต กะหล่ำปลี ผักกาด มันเทศ มันสำปะหลัง กาแฟทดแทน อาหารสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง รวมทั้งได้อนุมัติข้อเสนอแนะของคณะกรรมการด้านภาษีในการลดอัตราภาษีสำหรับสารเคมีและถ่านหินบางชนิดเพื่อพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานและลดต้นทุนการผลิต โดยการลดภาษีถ่านหินจะช่วยให้มั่นใจว่าราคาถ่านหินที่จำหน่ายอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผลซึ่งจะช่วยสนับสนุนราคาไฟฟ้าและอุปทานในประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

เป้าหมายการผลิตข้าวของฟิลิปปินส์

                นาย Chris Morales ปลัดกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ระบุว่า กระทรวงฯ จะไม่ลดเป้าหมาย   การผลิตข้าวเปลือกที่ 20.44 ล้านตันในปีนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา การเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกทำสถิติสูงสุดที่ 20.06 ล้านตันโดยได้รับความช่วยเหลือรัฐบาล ผ่านโครงการต่างๆ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่กำหนดให้เนื่องจากจัดสรรเงิน 1 หมื่นล้านเปโซเข้ากองทุน RCEF โดยกองทุน RCEF มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนโครงการที่ใช้เครื่องจักรในการปลูกข้าว ตลอดจนจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชที่ดีและการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรชาวนา และอื่นๆ ได้แก่ การจัดหาเมล็ดพันธุ์ลูกผสม และโครงการ contract growing ตามสัญญาของสำนักงานชลประทานแห่งชาติ (National Irrigation Administration) ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะบรรลุถึงการพึ่งพาตนเองให้ได้ แม้จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น รวมถึงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเห็นว่าสถานการณ์อุปทานข้าวยังสามารถจัดการได้ด้วยการนำเข้าของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอุปทานในประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Philippine Star

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

-ฟิลิปปินส์เป็นตลาดข้าวที่มีศักยภาพด้วยฐานจำนวนประชากรขนาดใหญ่และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งฟิลิปปินส์จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวในปริมาณมาก เนื่องจากไม่สามารถปลูกข้าวได้ทันกับการขยายตัวของจำนวนประชากร และปัจจุบันฟิลิปปินส์มีแนวโน้มความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้ใช้มากขึ้นจากความกังวลต่ออุปทานข้าวในประเทศและผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ รวมทั้งความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อสินค้าข้าวที่ส่งผลให้ข้าวในท้องตลาดมีราคาแพงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้ล่าสุดคณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งมีประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เป็นประธานได้อนุมัติแผนลดภาษีนำเข้าข้าวลงจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15 เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายใต้โครงการThe New Comprehensive Tariff Program for 2024 – 2028 ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 2564 รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีดูเตอร์เต ได้ออกคำสั่ง Executive Order ปรับลดภาษีนำเข้าทั่วไป (MFN Tariff Rates) สินค้าข้าวเป็นการชั่วคราว โดยลดอัตราภาษีนำเข้าข้าว MFN ในโควตาที่ร้อยละ 40 และนอกโควตาร้อยละ 50 ลงเหลือร้อยละ 35 เท่ากับอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากประเทศในอาเซียน เพื่อขยายแหล่งนำเข้าข้าวเพิ่มเติมนอกเหนือจากการนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มอุปทานข้าวในประเทศและเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในขณะนั้น ต่อมาภายหลังประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เข้ารับตำแหน่งในปี 2565 ก็ได้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสินค้าข้าวเป็นการชั่วคราวออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

-ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากแผนการปรับลดภาษีนำเข้าข้าวดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ จะจูงใจให้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศผู้ส่งออกข้าว รวมทั้งประเทศไทยในการขยายการส่งออก ข้าวไทยไปยังตลาดฟิลิปปินส์ แต่ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะการแข่งขัน ด้านราคา อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรชาวนาในฟิลิปปินส์ได้แสดงท่าทีคัดค้านการลดภาษีนำเข้าข้าวดังกล่าว โดยเห็นว่าแม้ว่าอัตราภาษีนำเข้าจะลดลงแต่ไม่เชื่อว่าราคาข้าวจะลดลงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวในตลาดโลก และการอ่อนค่าของค่าเงินเปโซต่อเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้วิพาก์วิจารณ์ว่าแผนการปรับลดภาษีนำเข้าดังกล่าวไม่ได้ทำการวิจัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน และไม่ได้มีการสอบถามความเห็นจากเกษตรกรชาวนาเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยกลุ่มเกษตรกรชาวนาระบุว่าอาจมีการพิจารณายื่นคัดค้าน/คำสั่งห้ามชั่วคราวต่อศาลต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ตลาดข้าวฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดต่อไปว่าการปรับลดภาษีนำเข้าข้าวดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้เตรียมแผนรองรับที่เหมาะสมต่อไป

zh_CNChinese