บริษัท Meiji Food Materia Co.,Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (FructoOligosaccharide) ฯลฯ กำลังให้ความสนใจและผลักดันการจำหน่ายวัตถุดิบจากมะพร้าว บริษัทนำเข้าและจำหน่ายแบรนด์ “Kara” ผลิตภัณฑ์มะพร้าวระดับโลกจากอินโดนีเซีย และในเดือนเมษายนที่ผ่านมาสินค้าประเภท Coconut cream และ Coconut cream powder ของแบรนด์ฯ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมได้รับเครื่องหมาย “Lo-ca-bo” (เครื่องหมายแสดงปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสม) จากสมาคม Eat & Fun Health Association เป็นครั้งแรก บริษัทได้ผลักดันสินค้าเพื่อเจาะตลาดสินค้าคาร์โบไฮเดรตต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถเจาะกลุ่มสินค้าสำหรับผู้แพ้นม หรือสินค้ากลุ่มอาหาร Plant-based โดยใช้แทนวัตถุดิบนม
สินค้าแบรนด์ “KARA” ที่บริษัทฯนำเข้า เป็นแบรนด์จากประเทศอินโดนิเซีย ซึ่งมีโรงงานผลิต 3 แห่งที่มีเทคโนโลยีการแปรรูปมะพร้าวที่ล้ำสมัย และมีพื้นที่เพาะปลูกที่กว้างขวาง นับเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้ามะพร้าวที่ใหญ่ระดับโลก ซึ่งโรงงานได้รับการรับรองมาตรฐาน “FSSC22000” นอกจากนี้ยังได้รับการตรวจสอบ SMETA (Sedex Members Ethical Trade Audit) และให้ความสำคัญกับแรงงานด้านสิ่งแวดล้อมการทำงานอีกด้วย
สินค้าแบรนด์ “KARA” มีลักษณะเฉพาะคือ มีความเข้มข้น มีกลิ่นหอมและแรงทำให้ได้รับความนิยม จึงมีโอกาสในการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เช่น ขนม ขนมปัง โยเกิร์ต ไอศกรีม และอื่นๆอีกมากมาย
หากเปรียบเทียบปริมาณคาร์โบไฮเดรตพบว่า ในนม 100 กรัมมีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม แต่กะทิ (Coconut milk) มีปริมาณเพียง 2.6 กรัม ซึ่งผลิตมะพร้าวไม่ว่าจะเป็น Coconut cream หรือ Coconut cream powder ของแบรนด์ฯ มีโอกาสสูงในกลุ่มตลาดสินค้าคาร์โบไฮเดรตต่ำ
จาก “สถิติการค้า” ของกระทรวงการคลัง ปริมาณนำเข้าสินค้าประเภทกะทิ (Coconut milk) ต่างๆ ในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณอยู่ที่ประมาณ 620 ตัน โดยในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นมีการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียมากเป็นอันดับหนึ่งที่จำนวน 345 ตัน/ปี แล้ว เนื่องจาก สินค้ามีคุณภาพดีและมีความได้เปรียบด้านราคาเหนือกว่าสินค้าจากประเทศไทยเล็กน้อย
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
วัตถุดิบจากมะพร้าวอย่างกะทิกำลังเป็นที่นิยม จากข้อมูลของ Fortune Business Insight พบว่า มูลค่าตลาดกะทิ (Coconut Milk) ของโลกในปี 2566 เท่ากับประมาณ 1,250 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากกระแสด้านสุขภาพที่ทำให้กะทิได้รับความนิยมแล้ว ปัจจุบัน มีผู้บริโภคกลุ่ม Vegan เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทนมจากพืชขยายตัวตามไปด้วย ประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน คนญี่ปุ่นดูแลใส่ใจในสุขภาพ บริษัทผู้ผลิตต่างๆจึงจำเป็นต้องสรรหาวัตถุดิบที่สามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์คาร์โบไฮเดรตต่ำ ฯลฯ นอกจากนี้ อาหารไทยนับว่าเป็นอาหารที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบ กะทิซึ่งเป็นวัตถุดิบของอาหารไทยจึงเป็นที่ต้องการของร้านอาหารไทยที่มีอยู่จำนวนมากกว่า 1,500 ร้าน อีกทั้ง ร้านอาหารอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารไทยแต่มีการนำเสนอเมนูอาหารแกงกะทิไทยอย่างแกงเขียวหวานก็มีไม่น้อย เนื่องจากเป็นอาหารที่เป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นทั่วไป ดังนั้น ความต้องการวัตถุดิบจากมะพร้าวอย่างกะทิ หรือ Coconut Milk จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ฉบับที่ 36 ประจำวันที่ 1 – 7 มิถุนายน 2567
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://news.nissyoku.co.jp/news/ozawa20240527022140940