สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

อุปสรรคที่ขัดขวางการขยายตัวในธุรกิจอาหารจากพืช (ต่อ)

ตอนที่แล้วได้เปิดอุปสรรคแรก และชี้โอกาสแรกไปแล้ว ในบทความนี้จะยกอุปสรรคและโอกาสที่ 2 ที่เอ่ยถึงในรายงานฉบับดังกล่าว พร้อมนำบทวิเคราะห์เพิ่มเติมจากรายงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาประกอบอีกเช่นเคย ตามทฤษฎีที่นักจิตวิเคราะห์ชื่อดัง Sigmund Freud ได้สรุปไว้ ว่ามนุษย์นั้นมักจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และ William McDougall นักจิตวิทยาชื่อดังอีกท่านหนึ่ง มีแนวโน้มอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกผู้คนในทุกช่วงวัยมีเหมือนๆ กันนั่นคือแนวโน้มที่จะชอบทำอะไรซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัยในการคิดและกระทำที่คงทนถาวรยิ่งขึ้นในขณะที่เจริญวัยขึ้น

อุปสรรคที่ 2: ผู้บริโภคไม่คิดว่าจะชอบรสชาติและรสสัมผัสของอาหารจากพืช

ความคุ้นเคยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและการทานอาหารนอกบ้าน ในขณะที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการสั่งอาหารจากร้านอาหารโดยสั่งสัปดาห์ละครั้ง แต่มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ที่เคยสั่งอาหารจากพืชในเมนู สิ่งใดกันแน่ที่ขัดขวางไม่ให้ผู้บริโภคลองชิมโปรตีนจากพืช เมื่อพวกเขาทานอาหารนอกบ้านหรือไปจับจ่ายในร้านของชำ … รสชาติ รสสัมผัส และความคุ้นเคย

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4    

ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีร้อยละ 30 ที่ตอบว่าไม่คุ้นเคยกับอาหารจากพืชในรูปแบบต่างๆ เลย และมีถึงร้อยละ 42 ที่ตอบว่าไม่คุ้นเคยเลยเมื่อถามถึงไข่จากพืช จากผลการสำรวจดังกล่าว จะพบว่ามีความสอดคล้องกันในเชิงสถิติระหว่างกลุ่มอายุและความคุ้นเคย โดยกลุ่ม Gen Z และ Millennials รุ่นเยาว์จะเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยดีกับโปรตีนจากพืชในรูปแบบต่างๆ มากที่สุด โดยกลุ่มนี้มีร้อยละ 29 ที่ตอบว่าตนเองคุ้นเคย ในขณะที่กลุ่ม Gen X นั้นมีเพียงร้อยละ 19 ที่ตอบเช่นนั้น

นอกจากเต้าหูและเทมเป้แล้ว โปรตีนจากพืชชนิดอื่นๆ นั้นค่อนข้างจะเป็นของใหม่ กระแสการหันไปบริโภคอาหารจากพืชนั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลังปี 2010 ช่วงเดียวกันกับความนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์เริ่มขยายตัว ซึ่งทำให้พอเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าทำไมผู้บริโภคกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมๆ กับอินเตอร์เน็ตอย่างกลุ่ม Gen Z และ Millennials รุ่นเยาว์จึงมีความคุ้นเคยกับของใหม่ๆ มากกว่าคนรุ่นเก่า

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

ในร้านค้าปลีก โดยรวมแล้วมีเพียงร้อยละ 11 ของผู้บริโภคที่ตอบเกี่ยวกับอาหารจากพืชว่า “จะต้องซื้อแน่ๆ” ในการจับจ่ายครั้งต่อไปในร้านค้าปลีกของชำ ในขณะที่มีผู้ตอบว่า “จะไม่ซื้อแน่ๆ” นั้นมีถึงร้อยละ 31 และในกลุ่มผู้ที่ตอบเช่นนี้ ก็พบว่ามีระดับการรับรู้ถึงอาหารจากพืชต่ำด้วย แต่ในกลุ่มผู้ที่ยังลังเลว่าจะซื้อดีหรือไม่ มีถึงร้อยละ 57 ที่มีการรับรู้ต่ำ หากมีการรับรู้มากขึ้น ก็ยังมีโอกาสที่จะหันกลับมาซื้อได้ในที่สุด และการสำรวจครั้งนี้ยังพบอีกว่ามีร้อยละ 32 ที่ตอบว่าจะไม่ลองชิมด้วย

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

ในร้านอาหาร ผลการสำรวจชี้ว่าผู้บริโภคที่สั่งอาหารจากร้านอาหารยิ่งบ่อยเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะสั่งอาหารจากพืชมากขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และความถี่ในการทานอาหารนอกบ้านก็ยังมีความสอดคล้องเชิงสถิติกันกับแนวโน้มที่จะสั่งอาหารจากพืชอีกด้วย

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

เหตุผลสำคัญของผู้บริโภคที่ไม่ได้สั่งอาหารจากพืชเมื่อมาใช้บริการในร้านอาหารมาจากความเชื่อว่าตนจะไม่ชอบรสชาติหรือรสสัมผัส

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

ในแง่วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในการทำอาหารจากพืชซึ่งมีหลากหลายชนิด มีการสำรวจกลุ่มชาวอเมริกันจำนวน 300 ตัวอย่าง โดยให้กลุ่มตัวอย่างเลือกวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในการทำก้อนเบอร์เกอร์ ที่ตนชอบและไม่ชอบ และหากชอบวัตถุดิบ 2 ชนิดก็ให้เลือกว่าชอบวัตถุดิบชนิดใดมากที่สุด ผลคะแนนจากการเลือกเป็นดังนี้

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

ผู้บริโภคอเมริกันมีแนวโน้มที่จะลองชิมเบอร์เกอร์จากพืชที่ใช้วัตถุดิบที่คุ้นเคยและหาซื้อง่าย เช่น มันฝรั่งและข้าว การตอบรับต่อพืชตระกูลถั่วค่อนข้างต่ำ การตอบรับต่อวัตถุดิบที่อ่อนนุ่มเหลวอย่าง เทมเป้ Seitan และ Mycoprotein ต่ำที่สุด น่าจะมาจากรสสัมผัสเวลาเคี้ยว ผักต่างๆ อยู่ในระดับกลางๆ ค่อนข้างสูง

โอกาสที่ 2: การให้ความรู้

การสร้างการรับรู้ในตลาดถือว่าเป็นโอกาสของอาหารจากพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวผลได้มหาศาล ทั้งนี้ก็เพราะผลจากการสำรวจชี้ว่า ผู้บริโภคที่เชื่อว่าตนจะต้องไม่ชอบบรรดาอาหารจากพืช กลับมีถึงร้อยละ 91 ที่บอกว่าตนชอบรสชาติและรสสัมผัสเมื่อเคี้ยวของอาหารจากพืชหลังจากที่มีโอกาสได้ลองชิม และยิ่งไปกว่านั้น มีร้อยละ 16 ที่บอกว่าตนชอบรสชาติและรสสัมผัสเมื่อเคี้ยวของโปรตีนจากพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำไป ผลการสำรวจดังต่อไปนี้ชี้ว่า การแจกสินค้าตัวอย่างให้ทดลองชิมในร้านค้าปลีกของชำ และการประชาสัมพันธ์ผ่านร้านอาหาร นับเป็นโอกาสที่จะช่วยขยายการรับรู้ในตลาดได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

ในร้านค้าปลีก มีโอกาสมากมายที่แบรนด์ต่างๆ สามารถขยายตลาดได้ ด้วยการให้ความรู้เรื่องประโยชน์นานาประการของโปรตีนจากพืช และผู้บริโภคส่วนใหญ่เองก็ยินดีที่จะลองชิมสินค้าตัวอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางเข้าสู่ตลาดได้ จากภาพข้างบนนี้ เห็นได้ชัดว่า สินค้าตัวอย่างหรือการได้ลองชิม คือโอกาสที่สำคัญ ซึ่งแม้แต่ผู้ที่คิดว่าคงจะไม่ซื้อและที่ยังลังเลไม่แน่ใจนั้น มีร้อยละ 38 และ 34 ตามลำดับที่ยินดีจะลองชิม แล้วถ้าชอบก็จะซื้อ และถ้าผู้บริโภคกลุ่มนี้ลองชิมแล้ว มีร้อยละ 91 ที่ชอบซึ่งจะเปลี่ยนจากน่าจะไม่ซื้อเป็นซื้อ และในกลุ่มนี้เอง จะมีอยู่ถึงร้อยละ 16 ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นลูกค้าในระยะยาวได้ด้วย เมื่อเจาะลึกถึงคุณลักษณะของบรรดาผู้บริโภคที่ยังลังเลกลุ่มนี้ ก็พบว่าเป็น ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้ใหญ่ 2 คนไม่มีเด็ก ระบุว่าตนเองทานทั้งเนื้อสัตว์และพืช (47%) และ/หรืออยู่ในกลุ่มที่พยายามลดคาร์โบไฮเดรต (26%) และมักจะสั่งอาหารจากร้านมาทานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง (84%) ผลการสำรวจยืนยันว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ยังลังเลอยู่นี้ พร้อมจะซื้อด้วยเหตุผลที่ตนตอบไป (ชิมแล้วชอบ มีโปรโมชั่น มีใครแนะนำ เป็นต้น) เมื่อถูกถามว่า “ในอนาคตท่านอาจบริโภคสิ่งเหล่านี้ (บ้างไหม)” ผลก็คือ

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

ในร้านอาหาร ผลการสำรวจชี้ว่ามีร้อยละ 35 ของผู้บริโภค ที่ระบุว่าการมีอาหารจากพืชให้เลือกนั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเวลาที่ตนจะเลือกร้านอาหารที่จะไปใช้บริการ และมีร้อยละ 15 ที่ตอบว่าร้านอาหารที่มักจะไปใช้บริการไม่มีอาหารจากพืชให้เลือกสั่ง

อุปสรรคในการบริโภคอาหารจากพืชที่ร้านอาหารนั้นคือความเชื่อ ผลการสำรวจชี้ว่า มีผู้บริโภคถึงร้อยละ 54 และ 42 ที่จะไม่สั่งอาหารจากพืชมาทานเพราะเชื่อว่าตนจะไม่ชอบรสชาติและรสสัมผัสขณะเคี้ยวของอาหารจากพืชตามลำดับ ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 4 รายเท่านั้นที่ได้ลองชิมโปรตีนจากพืชในร้านอาหาร แล้วร้อยละ 91 ของคนที่ชิมแล้ว ก็ชอบด้วย และเมื่อเจาะลึกลงไปอีกก็พบว่า ผู้บริโภคที่ทานอาหารที่ใช้บริการร้านอาหารบ่อยๆ (อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง) มีผู้ที่พอใจมากกว่า (88%) ผู้บริโภคที่ทานอาหารที่ใช้บริการร้านอาหารไม่บ่อย (ไม่เกินเดือนละครั้ง) (78%) และอีกหนึ่งอุปสรรคที่มีน้ำหนักมากคือราคาของรายการอาหารจากพืชในร้านอาหาร โดยมีร้อยละ 33 ของกลุ่มตัวอย่างที่จะไม่สั่งรายการอาหารจากพืชในร้านอาหารเพราะเหตุจากราคา แต่โดยรวมแล้ว ผู้บริโภคคาดว่าโปรตีนจากพืชมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์อยู่แล้ว

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

การสร้างโอกาสในการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อผู้บริโภคจะรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของโปรตีนจากพืชมากขึ้นและรู้สึกสะดวกใจและคุ้นเคยยิ่งขึ้น พอที่จะลองชิมอาหารจากพืช โดยเฉลี่ยแล้ว เนื้อจากพืชนั้นก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเนื้อสัตว์ถึงครึ่งหนึ่ง แม้จะมีผู้บริโภคมากมายที่ทราบดีเช่นนั้นแต่ก็ยังมีอีกมากที่ยังต้องให้ความรู้เพิ่มขึ้นอีก

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคที่ดำเนินรอยตามรูปแบบการบริโภคทางเลือกต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าโปรตีนจากพืชนั้นช่วยส่งเสริมความยั่งยืนมากกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่ทานทั้งเนื้อสัตว์และพืช (Omnivore) และพวกที่เน้นทานเนื้อสัตว์ (Carnivore/Semi-Carnivore)

สิ่งที่ควรทราบในการขยายตลาดอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ตอนที่ 3/4

บทวิเคราะห์: ภาพสุดท้ายนี้ นำรายชื่อรูปแบบการบริโภคทางเลือกมากมายมาแสดง ดังนั้นก่อนอื่นขออธิบายแต่ละรูปแบบคร่าวๆ เสียก่อน ดังนี้

  • Kosher: รูปแบบการเลือกบริโภคตามกฎของศาสนายิว มีข้อกำหนดไม่ให้ผสมเนื้อและผลิตภัณฑ์จากนมของสัตว์หลายชนิดกัน บริโภคได้เฉพาะเนื้อสัตว์บางชนิดที่มีการชำแหละด้วยวิธีเฉพาะและห้ามเนื้อสัตว์บางชนิด อาทิ เนื้อสุกร และสัตว์น้ำที่มีเปลือก
  • Halal: รูปแบบการเลือกบริโภคตามกฎของศาสนาอิสลาม มีข้อกำหนดว่าจะต้องชำแหละในพระนามของพระเจ้าและต้องปล่อยให้เลือดไหลออกมาให้หมดเสียก่อน ห้ามเนื้อสุกร แอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • Vegan: รูปแบบการเลือกที่จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ทุกชนิด
  • Vegetarian: ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และปลา มีแบ่งย่อยๆ ลงไป ได้แก่ lacto-vegetarian ที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ ovo-vegetarian ที่บริโภคไข่ และ lacto-ovo vegetarian ที่บริโภคทั้ง 2 อย่างได้
  • Flexitarian: โดยพื้นฐานจะคล้าย vegetarian แต่บริโภคเนื้อสัตว์และปลาได้ในบางโอกาส เน้นที่การบริโภคอาหารจากพืชเป็นหลักแต่อนุโลมให้ทานเนื้อสัตว์และปลาเล็กน้อยได้
  • Low-Carb: รูปแบบการเลือกที่จะจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้น้อยที่สุด เน้นโปรตีนและไขมัน มีหลายวิธีที่เน้นแนวทางนี้ อาทิ Atkins, ketogenic (keto) เป็นต้น
  • Pescetarian: โดยพื้นฐานจะคล้าย vegetarian แต่บริโภคอาหารทะเลและปลาได้ โดยจะเลือกบริโภคอาหารจากพืชเป็นหลักไปพร้อมๆ กับปลาและอาหารทะเล
  • Paleo: รูปแบบการบริโภคแบบมนุษย์สมัยโบราณเน้นอาหารแท้ๆ เลี่ยงอาหารแปรรูป
  • Omnivore: บริโภคทั้งเนื้อสัตว์และพืชผักผลไม้ ไม่มีข้อจำกัด
  • Carnivore (or semi-carnivore): เน้นบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากสัตว์เป็นหลักและเลี่ยงอาหารจากพืช หากเคร่งจะไม่บริโภคอาหารจากพืชเลย ส่วน semi-carnivore บริโภคอาหารจากพืชบ้างเป็นครั้งคราว

เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคที่ดำเนินชีวิตตามแนวทางการบริโภคที่มีวินัยกำกับจะโอนเอียงไปทางอาหารจากพืช และผลการสำรวจก็ออกมาเช่นนั้น โอกาสอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อผู้บริโภคที่ดำเนินรอยตามแนวทางใดๆ ก็ตาม เว้นแต่กลุ่ม Carnivore กับ Paleo เท่านั้น หากไปอยู่ในที่ซึ่งมีอาหารตามกฎที่ตนปฏิบัติตามจำกัด ก็สามารถหันมาพึ่งพาอาหารจากพืชได้ โดยสรุปแล้ว อุปสรรคที่กล่าวถึงในบทความตอนนี้ ก็คือความเชื่อ อันมีพื้นฐานมาจากความไม่รู้ หรือขาดประสบการณ์ ทำให้ผู้บริโภคคิดกันไปต่างๆ นานา จริงบ้างเท็จบ้าง อาจสรุปได้ว่าแรงจูงใจให้ผู้บริโภคที่ไม่คุ้นเคยกับอาหารจากพืชมาศึกษาหรือทดลองชิมเอง ยังไม่มีพลังมากพอ ผู้บริโภคที่ยังไม่รู้จัก ยังไม่เคยลองชิม ก็ไม่เห็นความสำคัญว่าจะรับรู้ไปเพื่ออะไร ชีวิตที่เป็นมาก็ไม่เห็นจำเป็นต้องไปขวนขวายหาอาหารจากพืชมาทาน ยิ่งสูงวัยยิ่งชวนให้โน้มเอียงมายาก แต่หากจะขยายตลาดให้ได้ ก็ต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูล ไปในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คุณประโยชน์ต่างๆ ของอาหารจากพืชนั้นเข้าหู เข้าตาผู้บริโภครุ่นเยาว์ที่ยุคนี้มีกระแสให้ห่วงใยสุขภาพ แถมมีแรงส่งจากสื่อสังคมออนไลน์ ก็ช่วยผลักดันให้ต้องแสดงตัวตน สร้างภาพลักษณ์ส่วนตัวให้สังคมเห็นและยอมรับกันมากขึ้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เปิดรับมากกว่า แต่กลุ่มผู้สูงประสบการณ์ที่อยู่มานานแล้ว ก็ใช่ว่าจะปิดหูปิดตาไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ อาจเป็นเพียงว่า คุณประโยชน์ที่สื่อๆ กันออกไปอาจยังไม่ได้ไปแตะข้อกังขากังวลในใจ เกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะอย่างเช่นประเด็นที่พืชผักนั้นช่วยลดความเสี่ยงโรคร้ายต่างๆ ที่ผู้บริโภคสูงวัยต้องรับมืออยู่ทุกวัน อาทิ โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน การให้ความรู้แนวนี้ ก็น่าจะดึงดุดความสนใจได้ แต่อาจต้องเน้นทำการตลาดไปทีละกลุ่ม เริ่มจากกลุ่มที่เข้าถึงง่าย รับรู้เร็ว ลงมือไวอย่างคนรุ่นใหม่กันก่อนน่าจะดีกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า โอกาสสำเร็จสูงกว่า เร็วกว่า

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: สำหรับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนี้ เชื่อว่าคงได้เรียนรู้ถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศ แล้วก็น่าจะได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันกับที่ในรายงานฉบับนี้วิเคราะห์ นักการตลาดในอุตสาหกรรมนี้ในสหรัฐฯ จะเน้นเข้า Food Services ก่อนเป็นหลัก แทบทุกแบรนด์จะบุกเข้าไปนำเสนอสินค้าอาหารจากพืชของตนกับบรรดาเครือข่ายร้านอาหารก่อน ขอเพียงยอมเซ็นสัญญาเริ่ม จะทำ Pilot Test ไม่กี่สาขาก่อนก็ทำไป ตลาดมีอยู่แล้วแน่ๆ รสชาติและรสสัมผัสตอนเคี้ยวก็ผ่านการกลั่นกรองมามากแล้วในระดับหนึ่ง จะน้อยจะมากอย่างไรก็ต้องมีฐานผู้บริโภคตอบรับบ้าง ถ้าเข้าเครือข่ายที่มีเป็นหลักร้อย หรือบางรายถึงหลักพัน เริ่มต้นสาขาละน้อยๆ ก็พออยู่ได้แล้ว ผ่านตรงนี้ไป โอกาสให้ผู้บริโภคเป้าหมายชิมสินค้าตัวอย่างก็ง่ายขึ้น แล้วผู้บริโภคก็ยังอาจจะไม่ได้ชิมฟรีๆ แต่ต้องซื้อไปลองชิมเอง ซึ่งแน่นอนว่าคงต้องทุ่มประชาสัมพันธ์กันหนัก แต่ปัญหาเรื่องการกระจายสินค้าไปให้ถึงผู้บริโภคเป้าหมายก็สำเร็จในเบื้องต้นแล้ว กำไรที่มีก็อาจหมดไปกับการประชาสัมพันธ์ แต่ต่อจากนี้ คิดจะวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกของชำ ก็น่าจะมีผู้บริโภคมาหาซื้อกันบ้างแล้ว ถ้ามาแรงจริงๆ ก็อาจถึงขั้นเริ่มถามหากันตามร้านต่างๆ เสียด้วยซ้ำไป

สคต. ไมอามีมองโอกาสเหล่านี้ในตลาดสำหรับอาหารจากพืชมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคที่ยังมีแต่นมโค นมแพะจำหน่ายจนทุกวันนี้ นมจากพืชมีจำหน่ายมากมายจนเลือกไม่ถูก ในปีนี้และปีหน้าสำนักงานฯ ก็ได้วางแผนที่จะเน้นอาหารจากพืชที่เชื่อมั่นเต็มเปี่ยมให้มาเปิดตลาดเต็มๆ กันในงาน Americas Food & Beverage Show ปีนี้ที่ Miami Beach Convention Center ช่วงวันที่ 16-18 กันยายน ซึ่งวางแผนไว้เป็นงานเริ่มต้นในการประชาสัมพันธ์อาหารจากพืชของบริษัทไทย เรามีแผนจะทำการสาธิตการปรุงอาหารท้องถิ่นโดยใช้วัตถุดิบของผู้ประกอบการไทยที่นำสินค้ามาแสดงในงานบนเวที ซึ่งยังต้องหารือกันต่อไปว่าอยากจะได้เชฟจากที่ใดมาปรุงอาหารโชว์ในงานกันดี เราเชิญผู้ซื้อเป้าหมายมาชมและชิมจบงานแล้วยังจะพาไปเก็บตกที่เกาะประเทศ Puerto Rico ที่เป็นเขตปกครองพิเศษของสหรัฐฯ ด้วย สำหรับผู้ประกอบการไทยก็อยากบอกกล่าวว่า แบรนด์อาหารจากพืชที่วางจำหน่ายจนคนไทยรู้จักกันทั่วไปแล้ว และ/หรือเข้าไปวางจำหน่ายผ่านเมนูร้านอาหารบางร้านกันแล้ว รวมถึงผู้ที่ผลิตออกมาจำหน่ายในต่างประเทศกันแล้วด้วย หากจะบุกตลาดสหรัฐฯ ท่านจะไม่ได้มาลุยตลาดตัวคนเดียว ประเทศไทยเรามีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) อยู่ 4 มุมประเทศที่นี่ คอยหาทางส่งเสริม จับคู่และบางครั้งก็ช่วยท่านแก้ปัญหาด้วย แม้แต่บริษัทฯ ที่รับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของผู้ซื้ออยู่แล้ว ก็อยากให้พยายามผลักดันนำแบรนด์ของไทยมาเปิดตัวกันบ้าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีนโยบายให้ สคต. ในแต่ละประเทศกันช่วยสนับสนุนสินค้าไทยอยู่แล้ว ผู้ประกอบการไทยสามารถหารือร่วมกัน วางแผนให้ สคต. ร่วมกับบริษัทของท่านหรือผู้จัดจำหน่ายของท่านในต่างประเทศ จัดกิจกรรม In-store Promotion ให้ผู้บริโภคได้ลองชิม และยังมีร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ในต่างประเทศที่เชื่อว่าหากมีการทำการตลาดที่ดีและมีแรงจูงใจที่เหมาะสม ร้านอาหารเหล่านี้ก็น่าจะยินดีช่วยกันสนับสนุนแบรนด์ไทยด้วยเช่นกัน

สุดท้ายก็ขอเน้นว่ากิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมามีไว้เพื่อผู้ประกอบการไทยทุกราย แม้ด้วยความเชื่อมั่นส่วนบุคคลจะทำให้มั่นใจว่าอาหารจากพืชของไทยน่าจะเหนือชั้นกว่าอาหารจากพืชในท้องถิ่นด้วยภูมิปัญญาการสร้างสรรค์รสชาติและเมื่อมารวมกับฝีมือการปรุงอาหาร เมนูอาหาร การรังสรรเมนูให้อาหารที่ได้มีความกลมกล่อมในรูปแบบอาหารเอเชียหรืออาหารท้องถิ่นก็จะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในสหรัฐฯ และกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วให้หันมาสนใจที่จะลองเปิดใจทดลองชิมทดลองนำไปปรุงอาหารตามแบบฉบับที่ผู้บริโภคต้องการไม่มากก็น้อย และข้อคิดเห็นนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะกลุ่มอาหารแห่งอนาคตเท่านั้น สำนักงานฯ พร้อมที่จะร่วมหารือกับท่านเสมอเพื่อโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยในสหรัฐอเมริกา

โปรดติดตามรายละเอียดของอุปสรรคและโอกาสที่ 3 ในตอนจบในสัปดาห์หน้า

*********************************************************

ที่มา: PBFA & GFI
เรื่อง: “GROWTH IN THE PLANT-BASED SPACE: What The Industry Needs To Know In 2024”
โดย: Dig Insights
สคต. ไมอามี /วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
zh_CNChinese