เมื่อเร็วๆ นี้ นาย Omer Bolat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของตุรกี ได้ให้สัมภาษณ์ในเชิงบวกกับแนวโน้มการส่งออกของตุรกีที่ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 10 ในขณะที่การนำเข้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ในตอนนี้ ภาคการส่งออกถือเป็นส่วนสำคัญที่รัฐบาลตุรกีกำลังพึ่งพาอยู่สำหรับความพยายามในการสร้างสมดุลใหม่ให้กับโครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีนโยบายหลักที่จะออกมาตรการต่างๆ ที่จะควบคุมความต้องการภายในประเทศที่นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของการนำเข้า และพยายามผลักดันการลงทุนภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก
การลดการขาดดุลการค้าและการเพิ่มขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัดดูจะเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลตุรกีภายหลังจากที่รัฐบาลเริ่มพลิกกลับการดำเนินนโยบายการเงินภายหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา โดยทางการได้ดำเนินการปรับนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อลดอุปสงค์และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 71.6 ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 นี้ ข้อมูลตัวเลขอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าการส่งออกของตุรกีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 125.45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้าลดลงถึงร้อยละ 8.5 เหลือ 168.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าลดลงมากกว่าหนึ่งในสามจากปีก่อน เหลือ 43.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหากดูในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการขาดดุลการค้าลดลงไปแล้ว 31 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เหลือ 88.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เป็น 257.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 6.7 เหลือ 346.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในแผนเศรษฐกิจระยะกลางของรัฐบาลได้มีการกำหนดมูลค่าเป้าหมายการส่งออกในปี 2024 ไว้ที่ 267 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ในช่วงหกเดือนแรก การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเฉพาะเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียว การขาดดุลการค้าต่างประเทศลดลง 35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ” นาย Bolat กล่าวด้วยความยินดี และแม้ว่าตัวเลขส่งออกในเดือนมิถุนายนจะลดลง แต่รัฐมนตรียืนยันว่าความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการส่งออกประจำปีกำลังเข้มข้นมากขึ้น “ภายในเดือนกันยายนและตุลาคม เราคาดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงต่ำกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เรามุ่งมั่นที่จะรักษาการขาดดุลการค้าต่างประเทศไว้ที่ 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์แผนงานระยะกลางอย่างมาก” นาย Bolat กล่าว และเขายังกล่าวอีกว่า “เป้าหมายภายในสิ้นปีของเราคือการรักษาดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ระหว่าง 20-25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ”
นาย Bolat ยังได้กล่าวถึงคำวิจารณ์ของผู้ส่งออกที่หาว่าค่าเงินลีร่าของตุรกีมีมูลค่าสูงเกินจริง โดยนาย Bolat กล่าวอ้างถึงมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย Mehmet Simsek ที่ว่า ถึงจะดูเหมือนว่าค่าเงินลีรามีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน “เราไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกได้โดยใช้วิธีการลดค่าเงินลีราของตุรกีได้ เศรษฐกิจเป็นระบบที่สมดุลและซับซ้อน และเราต้องตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วน” นาย Bolat กล่าว
นอกจากนี้ นาย Bolat ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับพันธมิตรหลักโดยเน้นย้ำถึงความไม่สมดุลอย่างมีนัยสำคัญกับจีน “เราส่งออกสินค้าไปยังจีน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าสินค้ากว่า 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันตุรกีมีมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดมากกว่า 50 มาตรการ” เขากล่าวว่า ปัญหาระดับโลกเกี่ยวกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อุปทานที่ไม่เพียงพอ และห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างแท้จริง สำหรับคู่ค้าสำคัญอีกทางหนึ่งอย่างยุโรปเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม การค้ากับอียูยังคงแข็งแกร่งอยู่ “ปริมาณการค้าของเรากับอียูอยู่ที่ 211 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกจากตุรกีถึง 105 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และแม้ว่าตลาดในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาดูไม่ค่อยคึกคัก แต่เราก็กำลังพยายามเดินหน้าในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอิสลามต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย” นาย Bolat กล่าว
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลตุรกีในขณะนี้ให้ความสำคัญกับตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และตัวเลขการขาดดุลการค้าที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยในทุกครั้งที่ตัวเลขดังกล่าวดีขึ้นหรือมีแนวโน้มในทางบวกก็จะมีการประกาศหรือให้ข่าวอย่างเป็นทางการจากบุคคลระดับสูงของรัฐบาลจนดูเหมือนเป็นความพยายามสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความนิยมให้กับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวดีที่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของตุรกีน่าจะเริ่มดีขึ้นด้วยการส่งออกที่เพิ่มขึ้น การนำเข้าลดลง การขาดดุลการค้าลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่ง การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับตัวเลขเหล่านี้ในระยะสั้นมากเกินไปนั้น นักวิเคราะห์และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยกลับมองว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของตุรกี โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการนำเข้าที่ลดลงนั้นอาจเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลลีร่าตุรกีที่อ่อนค่าลงไปมากและยังถือว่าน่าจะอ่อนค่าลงได้อีก และอุปสรรคในการนำเข้าที่ถูกจำกัดด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นอย่างมากจนผู้ค้าและผู้บริโภคต้องยอมจำนน และในความเป็นจริงย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคการผลิตของตุรกีเองด้วยที่ต้องประสบกับปัญหาวัตถุดิบนำเข้าราคาสูงจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว