ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในระบบอาหารของโลก โดยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก โดยในสายตาผู้บริโภคชาวจีน ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารและพืชพันธ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอาหารจึงโอกาสที่สดใสในการส่งออกของสินค้าอาหารไทยมายังตลาดจีน เนื่องจาก
1) จีนยังต้องการ “นำเข้าอาหาร” ที่มีคุณภาพ
รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับนโยบายสร้าง “ความมั่นคงด้านอาหาร” เพื่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากปัจจัยความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) สงครามการค้า ปัญหาภัยธรรมชาติ วิกฤติด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ โดยรัฐบาลมุ่งเน้นการส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศ ลดการนำเข้าและการพึ่งพาจากต่างประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จีนจะพยายามพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารภายในประเทศ แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนพื้นที่ผลิตอาหารต่อจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน ปริมาณการผลิตในประเทศก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จีนจะมีพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับ 3 ของโลก แต่บริเวณที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกกลับมีเพียง 1 ใน 3 ทำให้ ณ ปัจจุบันจีนต้องยังคงต้องพึ่งพา “การนำเข้าอาหาร” จากต่างประเทศ
จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญของโลก ในการตอบสนองความต้องการตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยซึ่งมีจุดแข็งในด้านสินค้าเกษตรและผลไม้ และมีฐานลูกค้าในตลาดจีนอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องรักษาและพัฒนาคุณภาพ รวมถึงความโดดเด่นของสินค้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ที่นับวันจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
2) ตลาด Future Food ขยายตัว ประชากรจีนที่เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพส่งผลต่อโครงสร้างความต้องการในการบริโภคอาหาร โดยในปัจจุบันประชากรจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวจีนต้องการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพตามกำลังการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ส่งผลให้ตพฤติกรรมและรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เพราะต้องการมีสุขภาพที่ดี และมีความเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่ดีขึ้น
ตามรายงานการสำรวจและวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของจีน ปี 2562 – 2566 ที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมพาณิชย์จีน แสดงให้เห็นว่ายอดขายอาหารเพื่อสุขภาพของจีนมีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2565 มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 68 พันล้านหยวน และเพิ่มขึ้นเป็น 72 พันล้านหยวนในปี 2566 นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมพาณิชย์จีนคาดการณ์ว่า ยอดขายอาหารเพื่อสุขภาพจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 77.8 พันล้านหยวนในปี 2567 ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
นอกจากนี้ “อาหารที่ทำจากพืช (Plant-based food)” ในจีนมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเกิดจากเทรนด์ที่ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจสุขภาพและให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ผู้บริโภคอาหารจากพืชในจีนยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ถือเป็นอีกกลุ่มตลาดหนึ่งที่ต้องจับตามองในอนาคต โดยในปี 2561 ขนาดตลาดของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากพืชของจีนอยู่ที่ประมาณ 910 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของตลาดจีนมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ดี ตลาดเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based meat) ของจีนไม่ได้เป็นตลาดแข่งขันโดยตรงกับเนื้อสัตว์ แต่เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติและผู้เคร่งศาสนาเพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริโภคอาหารตามนิสัยการบริโภคแบบดั้งเดิมของชาวจีน ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่าเนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภครุ่นใหม่โดยรุ่นหลังยุค 90 เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของเนื้อสัตว์จากพืช
3) โอกาสจากเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 สามารถลำเลียงสินค้าและผู้โดยสารจากจีนตอนใต้ผ่านสปป.ลาว โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาที่เมือง บ่อเต็น สปป.ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อประเทศไทยได้ที่สถานีรถไฟหนองคาย ที่อยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์เพียง 24 กิโลเมตร ทางรถไฟสายลาว – จีน สามารถลำเลียงสินค้าจากทั่วประเทศของไทย โดยลำเลียงสินค้าจากกรุงเทพฯ แหลมฉบัง หรือสถานีต้นทางอื่นๆ ไปยังจังหวัดหนองคาย แล้วผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ไปสู่ท่าบกท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อที่จะเปลี่ยนถ่ายรางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทร์ ไปยังจุดหมายปลายทางที่นครคุนหมิง ม และกระจายสินค้าที่ลำเลียงมาไปยังเมืองต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นนครเฉิงตู นครอู่ฮั่น นครซีอาน ฯลฯ
นอกจากการกระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ในจีนแล้ว เส้นทางรถไฟสายนี้สามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ โดยผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้อีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางในการขนส่งสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มความเร็วในการขนส่งสำหรับสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ที่ต้องการคงความสดใหม่เมื่อถึงมือผู้บริโภค ลดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่า ½ ของการขนส่งทางถนนเดิม และลดการสูญเสียจากการขนส่งทางรถบรรทุก เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดในประเทศจีน โดยเฉพาะไปยังฝั่งตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่ติดทะเล
4) โอกาสจากความตกลง RCEP ความตกลง RCEP เป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และเป็น FTA ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นโอกาสการส่งออกของไทยจากการที่สมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ โดยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ สินค้าที่เป็นโอกาส ได้แก่ ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ RCEP มีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) มี GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ผู้ประกอบการไทยจำต้องพิจารณาทั้งตลาด สินค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย ประกอบกับส่วนผสมทางการตลาด ดังนี้
1) การวิเคราะห์ตลาด : แม้ว่าสินค้าไทยมีศักยภาพเข้ามาสู่ตลาดจีนเป็นอย่างมาก แต่ยังคงต้องวิเคราะห์และปรับปรุงตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นและหลากหลาย โดยสามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดและช่องทางการจำหน่ายตามกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ิ ผู้ประกอบการสามารถติดตามข่าวสาร รายงานแนวโน้มตลาด/ สินค้า จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพื่อศึกษาข้อมูลตลาดเป้าหมาย ผ่านทางเว็บไซต์กรม www.ditp.go.th
2) การสร้างแบรนด์สินค้า : การสร้างแบรนด์สินค้าในตลาดจีนตะวันตกเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ควรสร้าง แบรนด์สินค้าตามความเหมาะ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่สินค้า พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างดี
3) กลยุทธ์การจัดจำหน่าย : กลยุทธ์การจัดจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดจีนตะวันตกจำเป็นต้องปรับปรุงตามความต้องการของตลาด ซึ่งสามารถประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าไทยผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ (เช่น เว็บไซต์ JD.COM, Taobao .com, Tmall.com,Tiktok ฯลฯ) ในขณะเดียวกัน ยังคงต้องยกระดับการให้บริการและคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่องด้วย
4) กลยุทธ์การตลาด (Marketing strategy) : สินค้าไทยยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดจีนตะวันตก ในด้านต่างๆ ได้แก่
(1) ราคา – โดยทั่วไป สินค้าไทยที่จำหน่ายในตลาดจีนตะวันตกราคาเป็นธรรม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่สามารถรับได้
(2) คุณภาพ – คุณภาพสินค้าไทยได้รับการยอมรับในตลาดจีนตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม
(3) วัฒนธรรม – ไทยกับจีนมีความผูกพันและติดต่อกันมาอย่างยาวนานนับแต่โบราณกาล และวัฒนธรรมไทย-จีนก็มีความคล้ายเคียงกัน ทำให้สินค้าไทยมีศักยภาพในการพัฒนาในตลาดจีนตะวันตกเป็นอย่างมาก
————————————————–
驻成都国际贸易促进办公室
กรกฎาคม 2567
แหล่งข้อมูล :
http://www.canyin58.com/zixun/2WlDZ3v63358.html