ภาพรวม
สินค้าอาหารทะเลแปรรูป เช่น ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ ลูกชิ้นกุ้ง ทอดมัน เนื้อปูเทียม/ ปูอัด ไส้กรอก เป็นต้น เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในธุรกิจร้านหม้อไฟนับเป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของจีน
ในปี 2565 มูลค่าตลาดของสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของจีนอยู่ที่ 20.339 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.58 (YoY) คาดว่า มูลค่าตลาดของสินค้าอาหารทะเลแปรรูปจะเพิ่มเป็น 22.149 พันล้านหยวนในปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.90 (YoY)
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงและเทคโนโลยีการแปรรูปของจีน อุตสาหกรรมสินค้าอาหารทะเลแปรรูปจึงได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมาก ปริมาณการผลิตในอุตสาหกรรมสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของจีนเพิ่มขึ้นจาก 1.1716 ล้านตันในปี 2555 เป็น 1.3342 ล้านตันในปี 2564 ทั้งนี้ ในปี 2566 คาดว่าปริมาณการผลิตจะอยู่ที่ 1.4664 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการจะอยู่ที่ 1.3645 ล้านตัน นอกจากนี้ เนื่องด้วยเหตุผลด้านทรัพยากรการประมง ผู้ผลิตสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของจีนจึงกระจุกตัวอยู่ในเมืองชายฝั่งทะเลเป็นหลัก เช่น มณฑลเหลียวหนิง มณฑลซานตง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง เป็นต้น
พฤติกรรมผู้บริโภค
ในบรรดาสินค้าอาหารทะเลแปรรูปที่มีการจำหน่ายในตลาดจีน ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นได้รับความนิยมมากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของส่วนแบ่งการตลาด ในปี 2564 ความนิยมบริโภคลูกชิ้นปลาแบบลูกกลม คิดเป็นร้อยละ 63.55 ของส่วนแบ่งการตลาด ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลาแบบทรงกระบอก คิดเป็นร้อยละ 21.1 และผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 15.35
ตัวอย่างอาหารทะเลแปรรูปในตลาดจีน (ภาพ จากแพลตฟอร์ม Taobao) |
กลุ่มผู้บริโภคสินค้า อาหารทะเลแปรรูปส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคคนหนุ่มสาว เนื่องจากสินค้าอาหารทะเลแปรรูปมีข้อได้เปรียบในด้านพกพาสะดวก และสามารถรับประทานอย่างรวดเร็ว จึงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตค่อนข้างยุ่ง ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในครอบครัวก็เป็นเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคของสินค้าอาหารทะเลแปรรูป การบริโภคสินค้าอาหารทะเลแปรรูปส่วนใหญ่นำไปใช้ในการปรุงอาหารที่บ้าน หรือร้านอาหารหม้อไฟ ร้านอาหารหม่าล่าทัง และร้านอาหารโอเด้ง
สำหรับปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวจีนจะพิจารณาในการเลือกซื้อสินค้าอาหารทะเลแปรรูป แบรนด์ที่มีชื่อเสียงมักจะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากกว่า ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังต้องพิจารณาความสดและคุณภาพของวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ดังนั้น สินค้าอาหารทะเลแปรรูปที่มีเกลือต่ำ ไขมันต่ำ ไม่มีสารปรุงแต่ง และวัตถุดิบคุณภาพที่ดีจะได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดจีน
ช่องทางการตลาด
ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลแปรรูปมีทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์นับเป็นหนึ่งในช่องทางหลักสำหรับการบริโภคสินค้าอาหารทะเลแปรรูป ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์ (เช่น Taobao, Tmall, JD.com, Pinduoduo เป็นต้น) ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มีข้อได้เปรียบในด้านสะดวกสบาย และมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทให้เลือก
ตลาดส่งออก/นำเข้าอาหารทะเลแปรรูป
สินค้าอาหารทะเลแปรรูปของจีนสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ และบางส่วนมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งปริมาณการส่งออกสูงกว่าปริมาณการนำเข้า ในปี 2564 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของจีนอยู่ที่ 21,800 ตัน และปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 134,100 ตัน ทั้งนี้ แหล่งนำเข้าหลักของจีน ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในปี 2564 การนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของจีนจากเกาหลีใต้คิดเป็นร้อยละ 40.50 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแปรรูปทั้งหมดของจีน จากประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 32.15 และจากประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 13.46
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ประเทศจีนกำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าอาหารมายังประเทศจีน จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน GACC (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) ตามข้อกำหนดของ <ประกาศสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 248> ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 ระบุว่า ผู้ผลิตอาหารในต่างประเทศที่นำเข้ามายังจีน จำนวน 18 รายการ[1] จะต้องยื่นลงทะเบียนต่อสำนักงานศุลกากรฯ ผ่านหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศผู้ส่งออก (Competent Authorities: CA) ตามระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศผู้ส่งออก ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการประเมินและตรวจสอบจากสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ จีนยังมีการกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการติดฉลากอาหารที่บรรจุภัณฑ์ และการจัดการฉลากอาหารนำเข้าและส่งออกของจีน โดยระบุว่า อาหารนำเข้าต้องติดฉลากภาษาจีนเพื่อให้สามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างถูกกฎหมาย
————————————————–
驻成都国际贸易促进办公室
สิงหาคม 2567
แหล่งข้อมูล :
https://mp.weixin.qq.com/s/rbjLGNcrSs8i4ZikqyWBQw
https://mp.weixin.qq.com/s/jNQkUxROa-Fm5N5Mq2id8Q
https://www.chyxx.com/industry/1150328.html
[1] ได้แก่ 1) เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ 2) ไส้กรอก 3) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 4) ผลิตภัณฑ์นม 5) รังนกและผลิตภัณฑ์ 6) น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง 7) ไข่และผลิตภัณฑ์ 8) น้ำมัน/ไขมันเพื่อการบริโภค 9) ผลิตภัณฑ์จากแป้งบรรจุใส่ชนิดต่างๆ อาทิ ซาลาเปาไส้ต่างๆ เกี๊ยวฯ 10) ธัญพืช 11) พืชบดและมอลต์ 12) ผักสด/แห้ง และเมล็ดถั่วแห้ง 13) เครื่องปรุงรส 14) ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ด 15) ผลไม้แห้ง 16) เมล็ดกาแฟและเมล็ดโกโก้ที่ไม่คั่ว 17) อาหารจำเพาะเพื่อสุขภาพ (Food for special dietary uses) 18) อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์