ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) การค้าระหว่างไทย – อิตาลี มีมูลค่า 2,559.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง 6.16% แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 1,121.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 2.45% และการนำเข้ามูลค่า 1,437.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 8.86% ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 316.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 26.07% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,121.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง 2.45% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีมูลค่า 1,149.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อันมีผลมาจากสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยมายังอิตาลีหดตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-12.36%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-2.27%) โดยอิตาลีถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับ 24 ของตลาดส่งออกทั่วโลกของไทย และอันดับ 4 ของตลาดส่งออกในยุโรปของไทย (อันดับ 1-3 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี 10 อันดับแรก มีดังนี้
โดยพบว่าในครึ่งปีแรกของปี 2567 กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม มูลค่า 112.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าการส่งออกไทยมายังอิตาลีทั้งหมด) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.27% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา (+56.08%) ข้าว (+52.23) ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง (+190.95%) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่า 107.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วน 9.58% ของมูลค่าการส่งออกไทยมายังอิตาลีทั้งหมด) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.85% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง (+45.53%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+453.48%) เครื่องดื่ม (+85.56%) เป็นต้น ในขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวลดลง มีมูลค่า 901.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วน 80.37% ของมูลค่าการส่งออกไทยมายังอิตาลีทั้งหมด) หดตัวลดลง 7.65% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-12.36%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-2.27%) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (-45.02%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-17.29%) เป็นต้น
หากพิจารณาการส่งออกของไทยมายังอิตาลี เดือนมิถุนายน 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออกต่ำที่สุด (เมื่อเทียบกับช่วงระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567) มูลค่า 132.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง 18.72% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 (มูลค่า 163.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 11.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+56.34%) อันดับ 2 อาหารสัตว์เลี้ยง มีมูลค่า 10.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+46.32%) อันดับ 3 อัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-24.97%) อันดับ 4 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มีมูลค่า 8.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-30.83%) และอันดับ 5 ผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่า 7.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-17.75%) โดยอิตาลีถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับ 29 ของตลาดส่งออกทั่วโลกของไทย และอันดับ 6 ของตลาดส่งออกในยุโรปของไทย (อันดับ 1-5 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส)
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยมายังอิตาลีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีการหดตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่การค้าระหว่างไทยอยู่ในภาวะหดตัว เช่น สหราชอาณาจักร (-15.33%) สวิตเซอร์แลนด์ (-48.84%) ฝรั่งเศส (-3.97%) และเบลเยี่ยม (-3.81%) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าไทยหลายรายการที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมายังตลาดอิตาลีตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวเพิ่มสูงถึง 76.70% อาหารสัตว์เลี้ยง กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 45.53% รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ ถึงแม้จะหดตัวลดลง 2.27% แต่ยังคงถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทยมายังตลาดอิตาลี โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะมีมูลค่าการสั่งซื้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากกรมมีแผนดำเนินการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems and Jewelry Fair 2024 เดือนกันยายน 2567 และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ภายใต้โครงการ SMEs Pro-active ในการเข้าร่วมแสดงสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีในงาน Vicenzaoro 2024 ณ เมืองวีเชนซ่า ประเทศอิตาลี ซึ่งถือเป็นงานสำคัญระดับนานาชาติและมีผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมและผลักดันให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอิตาลีในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 อย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: สำนักสถิติแห่งชาติอิตาลี และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
Photo by Andy Li on Unsplash