อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของชิลีขยายตัวจากอุปทานในตลาดโลกที่ลดลง

กรมป่าไม้แห่งชาติ (INFOR)[1] และสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของชิลี (ATCP)[2] รายงานว่าราคาส่งออกเยื่อกระดาษของชิลีมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุหลักมาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่ส่งผลกระทบให้อุปทานเยื่อกระดาษในตลาดโลกลดลงและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในบราซิล[3] ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเยื่อกระดาษอันดับ 1 ของโลก การระเบิดของโรงงานเยื่อกระดาษ Kemi ในฟินแลนด์[4] การปิดกำลังการผลิตของโรงงานเยื่อกระดาษในอเมริกาเหนือ[5] การหยุดชะงักการดำเนินงานที่ท่าเรือในฟินแลนด์และบัลติมอร์[6] รวมถึงปัญหาในการขนส่งของคลองปานามาและคลองสุเอซ[7] รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการส่งออกล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2567 จากกรมศุลกากรของชิลีว่า การส่งออกเยื่อกระดาษของชิลีขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  ราคาเยื่อกระดาษจากต้นยูคาลิปตัสฟอกขาว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30.1 ต้นสนฟอกขาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ต้นสนดิบ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 และเยื่อสิ่งทอจากต้นยูคาลิปตัส  เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 โดยมีราคาส่งออกที่ 618, 666, 703 และ 903 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ รวมมูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษของชิลี ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 อยู่ที่ 1,334 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ประเทศชิลีเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกเยื่อกระดาษรายสำคัญของโลก โดยภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ระหว่างปี 2562 – 2566 และสคต.ฯ คาดว่าสภาพทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ของชิลี จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งรัฐบาลชิลีได้มีการวางแผนบริหารและพัฒนาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ หรือ Forestry Development Plan[1] มาตั้งแต่ปี 2517 จากรายงานการสำรวจล่าสุดของกรมป่าไม้แห่งชาติ (INFOR)[2] ในปี 2565 ประเทศชิลีมีพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติอยู่ประมาณ 236 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกต้นไม้เพื่อภาคอุตสาหกรรมจากไม้โดยเฉพาะ (เยื่อกระดาษ    ไม้แผ่น ท่อนไม้ ไม้อัด เฟอร์นิเจอร์) รวมทั้งสิ้น 18.5 ล้านไร่ พื้นที่ที่เป็นต้นสน 11.4 ล้านไร่ และต้นยูคาลิปตัส 7.1 ล้านไร่ มีอัตราการปลูกไม้ทดแทนอยู่ที่ 0.4 ล้านไร่ต่อปี ซึ่งต้นสนและต้นยูคาลิปตัส จากระยะต้นกล้าจนถึงช่วงโตเต็มที่พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อใช้ในการผลิตเยื่อกระดาษจะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 8 ปี

 

ทรัพยากรไม้สำรองของชิลีมีปริมาณค่อนข้างคงที่ โดยมีปริมาณไม้สำรองเพื่อการใช้งานไปจนถึงปี 2592 มีเพียงช่วงระหว่างปี 2566 – 2568 เท่านั้น ที่ปริมาณไม้สำรองลดลง สาเหตุจากไฟป่า[1] ในปี 2566 และ 2567 ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศกว่า 2.7 ล้านไร่[2] อย่างไรก็ดี ชิลีมีการปลูกไม้ทดแทน และปริมาณไม้สำรอง (เนื้อไม้ล้วนไร้เปลือก SWB=Solid without bark) ในปี 2565 อยู่ที่ 44.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในขณะที่อัตราการใช้งาน (รวมทุกภาคอุตสาหกรรมไม้) อยู่ที่ 40.6[3] ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ เฉพาะภาคการผลิตเยื่อกระดาษ มีการใช้งานอยู่ที่ 15.6[4] ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเห็นได้ว่าการบริโภคในภาคอุตสาหกรรมไม้มีการใช้งานน้อยกว่าปริมาณสำรองที่ชิลีมี ในภาพรวมถือว่าชิลีมีการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม้สำรองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และชิลีเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถพลิกฟื้นวิกฤตการตัดไม้ทำลายป่าได้สำเร็จ โดยขยายพื้นที่ป่าของประเทศได้มากถึงร้อยละ 10[5] ในรอบ 25 ปี

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของชิลีมีความสัมพันธ์โดยตรงกับอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ กระดาษสื่อสิ่งพิมพ์ กระดาษชำระและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย โดยเยื่อกระดาษแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและเลือกประเภทเยื่อกระดาษให้เหมาะสมกับสินค้าที่ต้องการผลิต เพราะนอกจากจะเป็นการใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างสินค้าที่มีคุณภาพแล้ว ยังสามารถช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย โดยปัจจุบันสามารถจำแนกเยื่อกระดาษตามกรรมวิธีในการผลิตได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1) Chemical Pulp การสกัดทางเคมี โดยใช้สารเคมีในการต้มเพื่อย่อยเนื้อไม้ นิยมใช้กับไม้เนื้อแข็ง เนื่องจากเส้นใยของไม้เนื้อแข็งมีขนาดสั้น การผลิตด้วยวิธีนี้จะได้ผลลัพธ์เป็นเยื่อกระดาษคุณภาพสูง       มีความแข็งแรง มีผิวเรียบและทึบแสง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ อาทิ กระดาษเพื่องานพิมพ์ กระดาษวาดเขียน กระดาษอเนกประสงค์ และ กระดาษชำระ

2) Mechanical pulp การสกัดทางกล โดยใช้เครื่องจักรในการปั่น บดละเอียด ใช้ได้กับทั้งไม้เนื้อแข็งและเนื้ออ่อน เหมาะกับการใช้งานชั่วคราว ที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก อาทิ กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษนิตยสาร จุดเด่นคือเป็นกรรมวิธีที่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำที่สุด

3) Semi-mechanical pulp การสกัดแบบผสมผสาน โดยใช้เครื่องจักรในการบดปั่นและใช้สารเคมีในการสกัดเนื้อไม้ นิยมใช้กับไม้เนื้ออ่อน เนื่องจากมีเส้นใยที่ยาว ทำให้กระดาษมีความแข็งแรง จึงมักนิยมใช้ในการผลิตกล่องและบรรจุภัณฑ์ ถุงกระดาษ กระดาษลอนลูกฟูก กระดาษแข็ง (คุณภาพต่ำกว่าแบบ Chemical pulp แต่ดีกว่าแบบ Mechanical)

 

ข้อมูลจากกรมศุลกากรของชิลีในปี 2566 เผยว่าเยื่อกระดาษเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเป็นลำดับที่ 7 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยส่งออกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4.5 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9[1] ของ GDP และปัจจุบัน ชิลีมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษทั้งหมด 11 แห่ง โดยมีผู้ผลิตรายสำคัญคือ บริษัท Arauco และ บริษัท CMPC มีแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 34,000 ตำแหน่ง  โดยประเทศที่มีการนำเข้าเยื่อกระดาษจากชิลีมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ จีน (2.9 ล้านตัน) เกาหลีใต้ (0.3 ล้านตัน) ไต้หวัน (0.2 ล้านตัน) เนเธอร์แลนด์ (0.2 ล้านตัน) และไทย (0.1 ล้านตัน) โดยไทยนำเข้าเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมมูลค่า 80.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เยื่อกระดาษที่ชิลีผลิตได้ในแต่ละปีจะส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 85[1] และอีกร้อยละ 15 สำหรับการบริโภคภายในประเทศ โดย สคต.ฯ พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ สัดส่วนการบริโภคเยื่อกระดาษภายในประเทศกว่าร้อยละ 93.3 จะใช้การผลิตบรรจุภัณฑ์ กระดาษลูกฟูก/กล่อง กระดาษอเนกประสงค์และกระดาษชำระเป็นหลัก

การผลิตสินค้าจากเยื่อกระดาษของชิลีมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8[1] ต่อปี ในปี 2565 ชิลีมีการผลิตบรรจุภัณฑ์ กระดาษลูกฟูกและกล่อง  และกระดาษชำระและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย เป็นจำนวน 5.5 แสนตัน 4.8 แสนดัน และ 2.1 แสนตัน ตามลำดับ และตั้งแต่ปี 2560 ชิลีลดกำลังการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปี 2563 ชิลีได้หยุดการผลิต และพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด โดย สคต.ฯ คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวน่าจะเกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องจากในปัจจุบันการทำงานและการสื่อสารของบริษัท/องค์กร มีการสื่อสาร รับส่งข้อมูลผ่านระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง ระบบอินเทอร์เน็ตและ smart phone ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ข่าวทั่วโลกได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทำให้สื่อและสำนักพิมพ์ต่าง ๆ หันไปให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการเผยแพร่บทความหรือขายหนังสือในรูปแบบบทความหรือ E-book ทางออนไลน์ ส่งผลให้ความสำคัญและความต้องการกระดาษ เพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การจัดส่งอาหาร (Food delivery) และกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ความต้องการการบริโภคเยื่อกระดาษ เพื่อใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยจุดเด่นของบรรจุภัณฑ์จากเยื่อกระดาษ นอกจากจะมีน้ำหนักเบา สามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ราคาถูกกว่าแก้ว และอลูมิเนียมแล้ว ยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและแบรนด์ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เนื่องจากเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากข้อมูลล่าสุดของ Global trade atlas รายงานว่า ไทยมีการนำเข้าเยื่อกระดาษ (พิกัดศุลกากรที่ 47) จากชิลีในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 รวมปริมาณทั้งสิ้น 72,364 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 56.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.1 และร้อยละ 58.0 ตามลำดับ ในขณะที่ชิลีนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษจากไทย อาทิ รถบรรทุก (พิกัดศุลกากรที่ 87) คิดเป็นมูลค่า 73.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0) เครื่องต้มเยื่อไม้ ปั้มน้ำ เลื่อยไฟฟ้า เครื่องบดไม้ (พิกัดศุลกากรที่ 84) คิดเป็นมูลค่า 12.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.5) อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มความต้องการกระดาษเพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ในชิลีจะลดลง แต่กระดาษยังมีความจำเป็นในการใช้งาน  โดยสคต.ฯ ได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการชิลีหลายรายที่ต้องการนำเข้ากระดาษเพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ (กระดาษขนาด A4) จากไทย เนื่องจากมีคุณภาพสูงและราคาเหมาะสมหากผู้ประกอบการกระดาษท่านใดสนใจส่งออกสินค้ามายังชิลีโปรดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Thaitrade@ttcsantiago.cl

________________________________

圣地亚哥国际贸易促进办公室

สิงหาคม 2567

[1] https://wef.infor.cl/index.php/publicaciones/boletines-estadisticos/anuario-forestal

[1] https://wef.infor.cl/index.php/publicaciones/boletines-estadisticos/anuario-forestal

 

[1] Chile’s Forestry: Growth, Technology, and Sustainability (jiffygroup.com)

[1] https://www.euwid-paper.com/news/companies/wild-fires-impact-pulp-production-at-arauco-und-cmpc-090223/

[2] https://wef.infor.cl/index.php/publicaciones/boletines-estadisticos/anuario-forestal

[3] https://wef.infor.cl/index.php/publicaciones/boletines-estadisticos/anuario-forestal

[4] https://wef.infor.cl/index.php/publicaciones/boletines-estadisticos/anuario-forestal

[5] https://wef.infor.cl/index.php/publicaciones/boletines-estadisticos/anuario-forestal

[1] https://documents1.worldbank.org/curated/en/379851591243537122/pdf/Chile-s-Forests-A-Pillar-for-Inclusive-and-Sustainable-Development-Country-Forest-Note.pdf

[2] https://wef.infor.cl/index.php

[1] https://wef.infor.cl/index.php

[2] https://www.atcp.cl/Default.aspx

[3] https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(24)01024-9/fulltext

[4] https://www.paperage.com/2024news/03-26-2024metsa-fibre-kemi-mill-gas-explosion.html

[5] https://www.pulpapernews.com/20240604/15755/us-paper-mill-shuts-down-operations

[6] https://www.euronews.com/business/2024/03/27/how-could-baltimores-bridge-collapse-impact-global-supply-chains

[7] https://www.sobelnet.com/navigating-the-challenges-of-the-panama-and-suez-canals-impacts-on-global-trade-and-strategies-for-a-sustainable-future/#:~:text=The%20canal%20has%20endured%20various,and%20the%20people%20of%20Panama.

zh_CNChinese