อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาแสดงความกังวลและเตือน ให้จับตามองการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2024 ตามที่ผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์ไว้ ว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม 2024 ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2024 แต่ก็ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่า ECB จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมอีกครั้งหรือไม่ จากการคาดการณ์เบื้องต้นของ Eurostat สำนักงานสถิติยุโรป เมื่อวันพุธที่ผ่านมา พบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2024 แรงกดดันด้านราคาสินค้าในเขตพื้นที่ที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ราคาผู้บริโภค (Consumer Price) เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังคงอยู่ที่ 2.5% และข้อมูลจากฝั่งเยอรมนี ระบุว่า อัตราเงินเฟ้ออาจสูงกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) ในเดือนกรกฎาคม 2024 ราคาผู้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 2.6% ซึ่งสูงกว่าเดือนมิถุนายนเพียงเล็กน้อย ในเดือนกรกฎาคมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมสินค้าที่มีความผันผวน เช่น พลังงานและสินค้าบริโภคอยู่ที่ 2.9% ปัจจุบัน ECB ติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อได้สะท้อนแนวโน้มราคาพื้นฐานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ECB ก็ยังจับตาราคาธุรกิจบริการเป็นพิเศษล่าสุดเพิ่มขึ้น 4.0% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนมิถุนายน 2024 บรรดาธนาคารกลางจะกลับมาร่วมกันประชุมกันอีกครั้งในเดือนกันยายน 2024 ซึ่งจะเป็นการเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป หลังจากที่พวกเขาสรุปปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจากการประชุมติดตามผล ในเดือนกรกฎาคม 2024 อัตราดอกเบี้ยก็น่าจะคงระดับนี้ไปก่อน ผู้รับผิดชอบได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าพวกเขาจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้น่าจะมีแค่การอัปเดตค่าประมาณการณ์ด้านพัฒนาตัวของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อไว้ก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ น่าจะมีการแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ (1) การเติบโตของอัตราค่าจ้างงาน และ (2) ผลกำไรขององค์กรในเขตพื้นที่ที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) โดยเหล่านายธนาคารกลางต่างก็กำลังเดิมพันกันว่า หากทั้งสองค่านี้อ่อนค่าลง นั้นหมายความว่า ECB ก็น่าจะดำเนินการลดอัตราอัตราดอกเบี้ยต่อไปก็ได้

 

การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมสินค้าที่มีความผันผวน เช่น พลังงาน และสินค้าบริโภค ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจบริการ โดยนาง Ulrike Kastens นักเศรษฐศาสตร์ของ DWS กล่าวว่า “องค์ประกอบด้านค่าจ้างที่สูงขึ้นในภาคบริการ เป็นไปได้ที่จะทำให้มีการปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย” อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2024 อีกครั้ง นอกจากนี้นาย Kamil Kovar จากบริษัทจัดอันดับ Moody’s Analytics มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเมื่อมองผิวเผินข้อมูลอาจจะดูแย่กว่าเดิม โดยนาย Kovar เห็นว่า ปัจจุบันการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นปัจจัยในการตัดสินใจปรับขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ยลงก็ได้ สำหรับนาย Kovar การที่ ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในเดือนธันวาคม 2024 อีกครั้งจึงเป็นเรื่อง “ที่ไม่น่าจะสามารถคาดเดาได้แต่อย่างใด” และแน่นอนที่ตลาดการเงินคงไม่ปล่อยให้ความสงสัยดังกล่าวไม่ชัดเจนต่อไปได้นาน ซึ่งผู้ค้าในตลาดอัตราดอกเบี้ย Futures Market กำลังออกมากำหนดราคาแบบที่คาดว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ ECB จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งภายในสิ้นปีนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน สำหรับพันธบัตรฯ อายุ 2 ปี ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.53% หรือต่ำสุดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้ผลตอบแทนเพียง 2.32% อยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงต้นเดือนเมษายน 2024 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังว่า อัตราดอกเบี้ยหลักจะทยอยลดลงนั่นเอง อัตราอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Key Interest Rate) ของ ECB ซึ่งเป็นมาตราฐานในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับธนาคารอยู่ที่ 3.75% นับตั้งแต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก

 

ปัจจุบันเป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB อยู่ที่ 2% และจากการคาดการณ์ในปัจจุบันอย่างช้าที่สุด ECB น่าจะสามารถเข้าถึงจุดหมายดังกล่าวได้ภายในสิ้นปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปัจจุบันไม่น่าจะเป็นอุปสรรคกับเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากยังมีการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในลักษณะนี้เพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกครั้งเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB ที่ตั้งไว้ 2% นั้นก็ถูกนำมาตั้งคำถามครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเหมาะสมหรือไม่ นาย Olivier Blanchard หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Handelsblatt ในสัปดาห์นี้ว่า “การตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 3% น่าจะดูสมเหตุสมผลมากกว่า ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องนี่ที่เราควรพูดหารือกันเมื่อมีการพูดเรื่องอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ใหม่ของ ECB” อย่างไรก็ตาม นาง Christine Lagarde ประธาน ECB ปฏิเสธว่าไม่น่าจะมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่นางดำรงตำแหน่งจนถึงเดือนตุลาคม 2027

 

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเขตพื้นที่ที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) ก็ปรับตัวไม่สม่ำเสมอ สิ่งนี้เองทำให้การตัดสินใจของผู้มีอำนาจตัดสินใจในสภาของ ECB ยากขึ้นไปอีก ซึ่งคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่มาจาก 20 ประเทศใน Euro Zone โดยอัตราเงินเฟ้อในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 2.6% ในเดือนกรกฎาคม 2024 (เช่นเดียวกันกับเยอรมนี เนื่องจากนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา ราคาก๊าซในฝรั่งเศสมีราคาสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามแรงกดดันด้านราคาในประเทศอื่น ๆ กลับลดตัวลง อย่างในสเปนอัตราเงินเฟ้อลดลงจาก 3.6% เป็น 2.9% โดยการลดตัวลงของอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นพิเศษมีสาเหตุหลักมาจากราคาไฟฟ้าที่ลดลงนั่นเอง ในระหว่างที่อัตราเงินเฟ้อของออสเตรียลดลงเล็กน้อยเหลือ 2.9% นาย Magnus Brunner รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศออสเตรียกล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้อของประเทศเราขยับเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB อย่างต่อเนื่อง” นอกจากนี้ความแตกต่างกับเยอรมนีก็ลดลงเช่นกัน “HICP มีความแตกต่างกันเพียง 0.3% เท่านั้น” ดัชนี Harmonized of Consumer Price (HICP) เป็นการคำนวณแบบเดียวกันทั่วทั้งสหภาพยุโรป ซึ่งช่วยให้สามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ในขณะนี้ทำให้มีการจับตามองประเทศออสเตรียพิเศษ เนื่องจากล่าสุดประธานธนาคารกลางของประเทศออสเตรียเป็นคนเดียวที่ไม่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของ ECB ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นาย Robert Holzmann ประธานธนาคารแห่งชาติออสเตรียชี้แจงเหตุผลในการตัดสินใจของเขา ว่า ในตอนนั้นมีสัญญาณที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลง ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นสำหรับสมาชิกสภา ECB เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ในทางกลับกัน ในอิตาลีซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB ตลอดครึ่งปีแรกมาโดยตลอด ปัจจุบันแรงกดดันด้านราคาก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 0.9% ในเดือนมิถุนายนเป็น 1.7% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 2.1% เป็น 2.6% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2024

 

จาก Handelsblatt 30 สิงหาคม 2567

zh_CNChinese