จีนมีแนวโน้มต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ปี 2566 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านหลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา การปฏิวัติทางโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียด เป็นต้น แต่เศรษฐกิจของประเทศจีนนั้นยังคงทนต่อแรงกดดันจากภายนอก และเอาชนะสถานการณ์ยากลำบากภายใน จนบรรลุเป้าหมายด้านการส่งเสริมความมั่นคงและยกระดับคุณภาพ ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้โดยภาพรวมยังคงมีความคึกคัก อีกทั้งมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีตลอดทั้งปี

 

ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ปริมาณการนำเข้า 72,000 ตันในปี 2557 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 261,000 ตันในปี 2566 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเป็นร้อยละ 13.7 มูลค่าการนำเข้า 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 620 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเป็นร้อยละ 9.5 การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ไม่เพียงแค่ชดเชยการขาดแคลนทรัพยากรภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและการพัฒนาของอุตสาหกรรมยาจีนในยุคใหม่อีกด้วย

 

การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของประเทศจีน ปี 2557 – 2566
ปี ปริมาณการนำเข้า

(หน่วย:หมื่นตัน)

อัตราการเติบโตของ

ปริมาณการนำเข้า

(หน่วย:%)

มูลค่าการนำเข้า

(หน่วย:ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ)

อัตราการเติบโต

ของมูลค่าการนำเข้า

(หน่วย:%)

2557 7.2 -27.3 2.5 -81.4
2558 4.9 -31.9 1.9 -24.0
2559 4.8 -2.0 1.5 -21.1
2560 4.0 -16.7 1.9 26.7
2561 4.1 2.5 1.7 -10.5
2562 9.0 129.5 2.4 41.2
2563 10.4 15.6 3.2 33.3
2564 14.4 38.5 5.4 68.8
2565 22.4 55.6 6.1 13.0
2566 26.1 16.5 6.2 1.6

 

เอเชีย เป็นแหล่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่สำคัญที่สุดของจีน ซึ่งร้อยละ 90 ของวัตถุดิบสมุนไพรที่จีนนำเข้านั้นมาจากเอเชีย แหล่งนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรในแต่ละปีของจีนมีไม่ต่ำกว่า 60 ประเทศ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่า 10 ตันมีประมาณ 40 ประเทศ ในปี 2566 มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของจีนคือ 622.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดขนาดใหญ่สามอันดับแรกที่จีนนำเข้า ได้แก่ อินโดนีเซีย แคนาดา และเมียนมา โดยสินค้านำเข้าจากตลาดที่กล่าวมาข้างต้นคิดเป็นร้อยละ 45.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของจีน

 

10 อันดับแรกของประเทศที่ประเทศจีนนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ ปี 2566

ลำดับ ประเทศ มูลค่าการนำเข้า

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

อัตราการเติบโต

ของมูลค่าการนำเข้า

(หน่วย:%)

สัดส่วนมูลค่าการนำเข้า

(หน่วย:%)

1 印度尼西亚 144 -6.8 23.3
2 加拿大 74 32.0 12.0
3 缅甸 62 -37.6 10.0
4 印度 52 62.2 8.5
5 นิวซีแลนด์ 51 -0.8 8.3
6 越南 38 38.4 6.2
7 เกาหลีใต้ 32 -12.0 5.2
8 伊朗 26 103.3 4.3
9 俄罗斯 23 -7.3 3.7
10 美国 20 45.4 3.3

 

ปี 2566 ประเทศจีนนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้จากอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 144.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากสินค้าประเภทเครื่องเทศของอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบ (Competitive Advantage) ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จีนพิจารณาในการนำเข้า ยกตัวอย่างเช่น กระวานมีกลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านการทำอาหารและยาจีน ตลอดทั้งปีจีนมีการนำเข้ากระวานจากอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 69.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.8 จันทน์เทศและกานพลู ก็เป็นสมุนไพรชนิดหลัก ๆ ที่จีนนำเข้า โดยจันทน์เทศนำเข้าเป็นมูลค่า 42.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนกานพลูนำเข้าเป็นมูลค่า 6.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นแหล่งการนำเข้าเลือดมังกรที่สำคัญของจีนอีกด้วย ในปี 2562-2564 เนื่องจากเลือดมังกรที่ผลิตในประเทศขาดแคลน จึงมีการนำเข้าเลือดมังกรในปริมาณมากในช่วงเวลาดังกล่าว และมีการกักตุนเลือดมังกร จึงส่งผลให้การนำเข้าในปี 2566 ลดปริมาณลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตลอดทั้งปีมีการนำเข้าเป็นมูลค่า 4.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

แคนาดา เป็นตลาดนำเข้าสมุนไพรที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน สินค้าหลัก ๆ ที่จีนนำเข้าจากแคนาดาคือโสมอเมริกา ปี 2566 นำเข้าเป็นมูลค่า 74.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

เมียนมา อยู่ในอันดับสามของประเทศนำเข้า สินค้าหลักที่จีนนำเข้ามาจากเมียนมา คือขมิ้น เนื่องจากการนำเข้าขมิ้นในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทรัพยากรในตลาดยังคงมีเพียงพอ ดังนั้น การนำเข้าขมิ้นในปี 2566 จึงลดลง ปริมาณการนำเข้าตลอดทั้งปีเป็นจำนวน 8,858.3 ตัน ลดลงร้อยละ 48.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

นอกจากนี้ เวียดนามก็เป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ปี 2561 วัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่จีนนำเข้าจากเวียดนามมีมูลค่าเพียง 180,000 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ในปี 2566 สูงถึง 38.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 192.1 สินค้าที่ส่งออกจากเวียดนามมายังจีนแบบล็อตใหญ่ที่สำคัญได้แก่ ลูกสำรอง หมากสง โป่งรากสน และอบเชยจีน

 

ปัจจุบัน วัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่จีนนำเข้ามาไม่ได้จำกัดเฉพาะสมุนไพรจากภูมิภาคแถบเขตร้อนเท่านั้น เนื่องจากทรัพยากรยาภายในประเทศไม่เพียงพอ สายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดจากในประเทศจีนหลายชนิดก็เริ่มมีการนำเข้ามาในปริมาณมาก ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการภายในประเทศส่วนหนึ่งได้ออกไปตั้งฐานการเพาะปลูกสมุนไพรในต่างประเทศ นอกจากนี้ สมุนไพรที่มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่ชนกลุ่มน้อยอาทิ ทิเบต อุยกูร์ นำมาใช้ก็รวมอยู่ในการกำกับดูแลสมุนไพรนำเข้าด้วยเช่นกัน แม้ว่าปริมาณนำเข้าจะค่อนข้างน้อย แต่มีหลายชนิด ทำให้วัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่นำเข้ามาก็เริ่มมีสายพันธุ์ที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ปี 2566 สมุนไพรนำเข้า 10 อันดับแรกของจีนคือ โสมอเมริกา กระวาน เขากวางอ่อน จันทน์เทศ โสม ชะเอมเทศ หญ้าฝรั่น เทียนแกลบ กำยาน มดยอบ เลือดมังกร ขมิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.1 ของมูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปี

 

10 อันดับแรกของวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ที่ประเทศจีนมีการนำเข้ามากที่สุด ปี 2566
ลำดับ ประเภท มูลค่าการนำเข้า

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

อัตราการเติบโต

ของมูลค่าการนำเข้า

(หน่วย:%)

ปริมาณการนำเข้า

(หน่วย:ตัน)

1 โสมเอี่ยเซียม หรือโสมอเมริกา 92.73 34.8 5662.5
2 กระวาน 69.77 -18.5 20871.2
3 เขากวางอ่อน 51.62 -1.2 859.1
4 จันทน์เทศ 44.59 28.8 9822.3
5 โสม 32.29 -1.2 90.7
6 ชะเอมเทศ 2872 199.8 37295.3
7 หญ้าฝรั่น 26.51 104.3 70.9
8 เทียนแกลบ 18.71 187.9 11366.4
9 กำยาน มดยอบ และเลือดมังกร 16.52 -17.7 4255.3
10 ขมิ้น 11.36 -29.5 13978.3
หมายเหตุ: ในข้อมูลสถิติของศุลกากร “กำยาน มดยอบ และเลือดมังกร” เป็นพันธุ์ภายใต้รหัสเดียวกัน

 

โสมอเมริกา เป็นสายพันธุ์ที่มีการนำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง โดยหลัก ๆ มาจากแคนาดาและสหรัฐอเมริกา มูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปี 92.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.9 ของมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ทั้งหมด ปริมาณการนำเข้าเป็น 5,662.5 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.8 นอกจากนี้ โสม ก็จัดอยู่ในลำดับที่ห้าของการนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโสมที่มาจากเกาหลีใต้ มูลค่าการนำเข้ารวมตลอดทั้งปีเป็น 32.296 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ โสมได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งสมุนไพร” ถูกมองว่าเป็นวัตถุดิบสมุนไพรล้ำค่า และมีประวัติการใช้งานมาอย่างยาวนาน ประเทศจีนในฐานะที่เป็นประเทศแหล่งกำเนิดโสม ยังจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรประเภทโสมในปริมาณมาก ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตยังคงมีปัญหา ซึ่งแม้จะมีขนาดใหญ่แต่ขาดความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จีนยังคงตระหนักถึงความสำคัญของสินค้าที่ผลิตในประเทศ จึงได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งสร้างแบรนด์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับโสม เพิ่มความแข็งแกร่งในด้านการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมของแบรนด์ที่มีคุณภาพ เพื่อแข่งขันกับโสมนำเข้าจากต่างประเทศ

 

ชะเอมเทศ เป็นสายพันธุ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปี 2566 มูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปีเป็น 28.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 199.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี ปริมาณนำเข้าเป็น 37,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 230.3 สร้างสถิติสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีนี้ ชะเอมเทศ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสมุนไพรที่มีปริมาณการใช้มากที่สุดในจีน ใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์ ยาสูบ อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาด้านสรรพคุณ ชะเอมเทศของจีนไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ดังนั้น จีนจึงนำเข้าชะเอมเทศเข้ามาซึ่งหลัก ๆ มาจากประเทศในตะวันออกกลาง ในปี 2566 นำเข้าจากคาซัคสถาน 23,000 ตัน อุซเบกิสถาน 7,483.5 ตัน เติร์กเมนิสถาน 3,675.9 ตัน เนื่องจากชะเอมเทศจัดอยู่ในสินค้าประเภทอาหารและยา เงื่อนไขในการกำกับดูแลสินค้าประเภทนี้เป็นไปตามการกำกับดูแลวัตถุดิบสมุนไพร ดังนั้น ชะเอมเทศที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ “เภสัชตำรับแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” ฉบับปี 2563 ไม่สามารถนำเข้าประเทศจีนได้ชั่วคราว ปัจจุบันชะเอมเทศที่ใช้ในอาหารและชีวิตประจำวันรวมถึงชะเอมเทศที่เป็นวัตถุดิบยาจีนมีการแบ่งส่วนโควตานำเข้าร่วมกัน ซึ่งทำให้ตลาดของสินค้าประเภทนี้มีการแย่งแข่งขันสูงขึ้น

 

การนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรประเภทเครื่องเทศในปี 2566 โดยภาพรวมมีการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทั่วโลกมีความต้องการอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องเทศคัดพิเศษที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น จันทน์เทศปริมาณการนำเข้าตลอดทั้งปี 9,822.3 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 มูลค่าการนำเข้า 44.591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 ยี่หร่าปริมาณการนำเข้าตลอดทั้งปี 11,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.9 มูลค่าการนำเข้า 18.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 187.9

 

ตามข้อมูลจากศุลกากรจีน (GACC) ระบุว่า เดือนมกราคม – กรกฎาคม ปี 2567 ประเทศจีนมีการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรปริมาณ 117,106 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 คิดเป็นมูลค่า 257.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีการนำเข้าพรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ (รวมถึงเมล็ดและผล) ชนิดที่ใช้ประโยชน์หลักในทางเภสัชกรรมฯ (HS Code: 1211.90) จากประเทศไทยเป็นมูลค่า 6.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

ในส่วนของสมุนไพรไทย ชาวจีนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสมุนไพรไทยมาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ยาสมุนไพรไทยได้รับความนิยมในตลาดจีน ได้แก่

‌1. ความต้องการของตลาด‌จีน เนื่องด้วยตามแผน “Healthy China 2030” ทำให้ตลาดเพื่อสุขภาพของจีนมีศักยภาพมหาศาล เปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเข้าสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้น

2. ความนิยมของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในตลาดจีน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เช่น ครีมนวด สบู่ เครื่องสำอางน้ำมันหอมระเหย ฯลฯ ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศไทย

‌3. ข้อได้เปรียบด้านทรัพยากร‌ไทย เนื่องจากความได้เปรียบด้านสภาพอากาศ ประเทศไทยจึงมีความหลากหลายของพืชธรรมชาติที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ทำให้มีทรัพยากรมากมายสำหรับการรวบรวมยาสมุนไพร นอกจากนี้การผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนไทยและทฤษฎีทางพุทธศาสนายังเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ให้กับยาสมุนไพรไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ได้รับความนิยมในตลาดจีน‌

‌อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการส่งออก‌ ปี 2563 จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยคิดเป็นร้อยละ 34.3 ของการส่งออกทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความต้องการยาสมุนไพรของไทยในตลาดจีนอย่างมีนัยสำคัญ

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยมูลค่าการนำเข้าสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกยังคงที่ ส่งผลให้ส่วนต่างของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนแคบลง จาก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 เป็น 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 การใช้ทรัพยากรพืชพรรณจากต่างประเทศเพื่อชดเชยความต้องการภายในประเทศได้กลายเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการร่วมมือกับอุตสาหกรรมวัตถุดิบสมุนไพรของต่างประเทศ และในส่วนของแหล่งนำเข้า นอกจากแหล่งนำเข้าแบบดั้งเดิมแล้ว จีนยังจะขยายประเทศมหามิตรในเชิงรุกอีกด้วย ประกอบด้วยการสร้างประเทศและภูมิภาค “One Belt One Road” ประเทศสมาชิก RCEP องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งภูมิภาคและประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นพันธมิตรและเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรของประเทศจีน

 

ประกาศจากกรมศุลกากรจีน (GACC) ว่าด้วยเรื่อง ยกเลิกการขออนุญาตกักกันสินค้าจากสัตว์และพืชขาเข้าบางชนิด

ตาม “ระเบียบการบริหารจัดการและการขออนุญาตกักกันสินค้าจากสัตว์และพืชขาเข้า” (ประกาศเดิมของสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ฉบับที่ 25 และประกาศเดิมสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้ง ประกาศสำนักงานศุลกากรกลาง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 238 ที่ 240 ที่ 262) ได้รับการพิจารณาและอนุมัติให้ยกเลิกข้อกำหนดการขออนุญาตกักกันสินค้าล่วงหน้าสำหรับการนำเข้าสัตว์และพืชบางชนิด แบ่งเป็น 1. อาหารสัตว์ที่มาจากพืช 2. ปุ๋ยและวัสดุปลูกที่มาจากพืช 3. วัตถุดิบของสมุนไพรจีนที่มาจากพืช 4. ยาสูบ 5. ผักสด 6. ปลาป่น และ 7. หนังสัตว์ สำหรับรายการสินค้าที่ถูกยกเลิกสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่

http://www.customs.gov.cn/customs/302249/2480148/5960228/2024062820200127880.xls

 

หากรหัสสินค้าและ CIQ Code (รหัสที่จีนกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นรายละเอียดสินค้าเพิ่มขึ้นมา จาก HS Code มกอช.) ที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในรายการมีการเปลี่ยนแปลง ให้อ้างอิงจากข้อมูลรหัสใหม่ล่าสุดจากสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหลัก

 

ก่อนการนำเข้าสินค้าข้างต้น ผู้นำเข้าไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตกักกันสินค้าสัตว์และพืชขาเข้าจากศุลกากรจีน แต่สินค้าที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมาจากประเทศหรือภูมิภาคที่ได้รับอนุญาตนำเข้า รวมถึงสถานที่ผลิต แปรรูป และจัดเก็บสินค้านอกเขตอาณาที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศุลกากรจีนเท่านั้น เมื่อสินค้าเข้าสู่ประเทศจีนแล้ว จะต้องสำแดงต่อศุลกากรตามระเบียบ และรับการตรวจสอบกักกันตามขั้นตอนต่อไป

 

การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบ สมุนไพรที่มาจากพืชส่งออกสาธารณรัฐประชาชนจีน

กรมกักกันพืชและสัตว์ สำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the P.R.CHINA : GACC) ขอให้ประเทศไทยส่งทะเบียนรายชื่อผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรที่มาจากพืชและได้รับอนุญาตให้นำเข้าสำหรับใช้ในการผลิตยาจีน เพื่อให้สอดคล้องตามข้อปฏิบัติของกฎหมายการตรวจสอบกักกันพืชและสัตว์นำเข้าและส่งออกของสาธารณรัฐประชาชนจีน กรมวิชาการเกษตรจึงเป็นผู้ขึ้นและส่งทะเบียนรายชื่อผู้ผลิตและ แปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรที่มาจากพืชส่งออกสาธารรัฐประชาชนจีนให้ GACC เพื่อพิจารณาตรวจสอบและประกาศทะเบียนรายชื่อผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ บนเว็บไซต์ของ GACC ต่อไป

 

รายการสมุนไพรที่มาจากพืชของไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 28 รายการ

1. หมากแห้ง 8. ขิงสด ขิงแห้ง 15. ลูกเดือยแห้ง 22. เร่วดง
2. ถั่วแดงแห้ง 9. พริกแห้ง 16. ใบงาขี้ม่อนแห้ง 23. กำ ยานญวน
3. พุทราจีนแห้ง 10. เกสรบัวหลวงแห้ง 17. ไผ่ (ส่วนที่ได้จากลำต้นไผ่นำมาทำให้แห้งเป็นก้อน) 24. ยางต้นรง
4. วอลนัทแห้ง 11. เนื้อลำ ไยอบแห้ง 18. กระวานแห้ง 25. สารสกัดเข้มข้นแบบแห้งจากเปลือกสีเสียด
5. งาแห้ง 12. ฮ่วยซัวแห้ง 19. เปลือกของผลหมากแห้ง 26. สารสกัดเข้มข้นแบบแห้งจากใบสกุลว่านหางจระเข้
6. พริกไทย 13. สำ รองสด สำ รองแห้ง 20. กระเบาใหญ่แห้ง 27. สีเสียดเทศ (กะเมีย)
7. ต้นจีกู่เฉาแห้ง 14. กล้วยไม้สกุลหวายแห้ง 21. แสลงใจแห้ง 28. เปลือกแห้งของสกุลไม้ยิว

ที่มา กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช

ผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ สามารถยื่นเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผู้ประกอบการที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนดังกล่าวบนเว็บไซต์ GACC เท่านั้น จึงจะสามารถส่งออกสมุนไพรฯ ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้

 

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน

ผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรฯ สามารถ        ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ตรวจสอบรายชื่อสมุนไพรที่ประสงค์จะส่งออกว่าอยู่ในรายการสมุนไพรฯ 28 รายการ หรือไม่ รายละเอียดตาม QR code
  2. กรอกข้อมูลคำขอขึ้นทะเบียนตามแบบ กมพ. 31 พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบคำ ขอฯ รายละเอียดตาม QR code
  3. ส่งเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนที่กลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (กตม.) กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร

 

จีนมีแนวโน้มต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก  จีนมีแนวโน้มต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ความตกลงระดับภูมิภาค อาทิ การริเริ่ม“One Belt One Road” ประเทศสมาชิก RCEP องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ คือพันธมิตรที่สำคัญทางการค้าระดับโลกในอนาคต ล้วนเป็นพื้นที่สำคัญในด้านการค้าวัตถุดิบสมุนไพร และจะกลายเป็นแรงหนุนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

 

ตามสถิติของหอการค้าเพื่อการส่งออกนำเข้าเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพของจีน มูลค่าการค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก RCEP จาก 61.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 1,130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากสัดส่วนร้อยละ 36.4 ของมูลค่าการค้ารวมวัตถุดิบสมุนไพรของจีน เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 58.2 ในปี 2566 เนื่องจาก กระวาน ขมิ้น กานพลู เลือดมังกร และม้าน้ำ ต้องอาศัยการนำเข้าจากภูมิภาคดังกล่าว และปริมาณการนำเข้าก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ตลาดในเขตพื้นที่องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน วัตถุดิบสมุนไพรต่าง ๆ ของจีน เช่น ชะเอมเทศ หญ้าฝรั่น มหาหิงคุ์ ฝางเฟิง เป็นต้น หลัก ๆ มาจากประเทศที่เกี่ยวข้องกับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ เดือนตุลาคม ปี 2566 การเปิดตัว “แผนงานภาพรวมของเขตการค้าเสรีนำร่อง (ซินเจียง) แห่งประเทศจีน” ก็ได้เสนอให้ขยายการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรที่มีลักษณะเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการประเมินความเสี่ยงในการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรที่มีความต้องการเร่งด่วนในปริมาณมากของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เช่น บัวเผื่อน เมโดว์แซฟฟรอน คาโมมายล์ ดอกทับทิม ดอกกุหลาบ หญ้าลิ้นวัว เป็นต้น รวมถึงเร่งลงนามในข้อตกลงทวิภาคี นอกจากนี้ การเจรจารอบที่ 5 สำหรับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ Wang Shou Wen รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ผู้แทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า จะยกระดับการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน อีกทั้งสร้างประชาคมจีน-อาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในเชิงรุก

 

ดังนั้น จากมุมมองในระดับชาติ ควรเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรให้แน่นแฟ้น รักษาเสถียรภาพของฐานการค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ เนื่องด้วย คณะกรรมการระเบียบศุลกากรของคณะมนตรีรัฐกิจกำหนดอากรเป็นศูนย์สำหรับยาและวัตถุดิบของยาต้านมะเร็งหรือยารักษาโรคหายากบางส่วน รวมถึงเร่งการนำนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วนในสถานพยาบาลเข้าสู่ตลาดจีน ดำเนินการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมทางการค้าและความต้องการของตลาดใหม่ ๆ

 

การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้ของจีนในปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ยังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ผันผวนของตลาดโลก จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การนำเข้าอย่างยืดหยุ่น และเพิ่มความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือกับตลาดต่างประเทศ  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัตถุดิบและชิ้นส่วนสมุนไพรพร้อมใช้อย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ยาสมุนไพรของไทยเริ่มครองส่วนแบ่งตลาดโลกและคาดว่าจะสร้างรายได้มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทให้กับประเทศ โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดที่สำคัญ เนื่องจากสมุนไพรไทยไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมในตลาดจีนเท่านั้น แต่ยังมีความต้องการของตลาดและศักยภาพในการพัฒนาที่ดีอีกด้วย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจึงมีโอกาสในตลาดจีนอย่างกว้างขวางเนื่องจากมีทรัพยากรและประสิทธิภาพที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจาก การขออนุญาตและนำเข้าวัตถุดิบรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสมุนไพรนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง ผู้ประกอบการที่สนใจในในตลาดนี้ควรมองหาและร่วมมือกับผู้นำเข้าของจีนที่มีประสบการณ์ในการนำเข้าสมุนไพร นอกจากนี้ ในอนาคตหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่อาจหาช่องทางดำเนินการเจรจากับจีนเพื่อเพิ่มรายการสมุนไพรที่อนุญาตนำเข้าจากไทย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ให้สามารถขยายตลาดได้ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อื่นที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร

 

ที่มา:

กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช

http://www.customs.gov.cn/customs/302249/302266/302267/2371435/index.html

https://mp.weixin.qq.com/s?__biz=MzAwODIwMzU0MQ==&mid=2651790295&idx=1&sn=83586e82e6ede4d5426e8fd914b732b3&chksm=814dd72589f62aa4792fe7f8225a96c2380dc36bb80bd92187f2e0ea75c71fb2ef10a4253bce&scene=27

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

สิงหาคม 2567

zh_CNChinese