ภาพรวมอุตสาหกรรม
ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในสหรัฐอเมริกาปี 2566 มีมูลค่า 3,334.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจาก 3,164.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือคิดเป็นร้อยละ 5.4 และคาดว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ปี 2567 จะมีมูลค่า 3,398.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 1.9 จากปี 2566 โดยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังในสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้ ดังนี้
มูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังในตลาดสหรัฐฯ (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สำหรับช่องทางการจำหน่ายของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลังในสหรัฐฯ ปี 2566 เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์ร้อยละ 87 และเป็นช่องทางออนไลน์ร้อยละ 13 ทั้งนี้ สำหรับช่องทางการจำหน่ายแบบออฟไลน์ ผู้บริโภคชาวอเมริกันส่วนใหญ่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 44 และเป็นการซื้อจากไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 16
แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลังในสหรัฐฯ ปี 2567
ในตลาดสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีการเติมสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มเติม (Functional Beverage) โดยเครื่องดื่มชูกำลังมักจะทำการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี เครื่องดื่มชูกำลังได้พัฒนาและพยายามตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น
คำโฆษณาที่บอกว่าจะช่วยเพิ่มพลังกายและพลังใจได้ดึงดูดผู้บริโภคอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมและคุณค่าโภชนาการได้ทำให้แบรนด์ต่างๆ สามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันได้มากขึ้น โดยแบรนด์หลักๆ มักจะใช้คาเฟอีน ทอรีน และวิตามินบีเป็นตัวชูโรง อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญในปี 2567 ดังนี้
- การเสริมกรดอะมิโนสำหรับการออกกำลังกาย
ผู้ออกกำลังกายนิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลังก่อนการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย ปัจจุบัน แบรนด์ต่างๆ ได้เพิ่มกรดอะมิโนเพื่อให้ดึงดูดใจสำหรับผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง Zoa ที่ได้ผสมกรดอะมิโนในผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากผลการสำรวจตลาดสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคผู้ชายร้อยละ 35 และผู้หญิงร้อยละ 27 ของกลุ่มตัวอย่างที่อายุระหว่าง 18 – 34 ปี ได้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา
- การขยายผลิตภัณฑ์ไปยังรสชาติผลไม้ที่หลากหลายมากขึ้น
รสชาติผลไม้เป็นรสชาติหลักในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลังที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น รสเบอร์รี่ ผลไม้ฤดูร้อน เมลอน และส้ม เป็นต้น หากมองในแง่การเปิดตัวใหม่ รสชาติที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดสหรัฐฯ ในขณะนี้ ได้แก่ สตรอว์เบอร์รี เลมอน ส้ม และสับปะรด นอกจากนี้ แบรนด์ต่างๆ ยังได้พยายามคิดค้นรสชาติและส่วนผสมใหม่ๆ เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกัน เช่น แบรนด์ Rockstar ได้ออกรสชาติแตงโมกีวี่ เป็นต้น
- ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือมีน้ำตาลน้อย
ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการลดส่วนผสมของน้ำตาลจากความตระหนักเรื่องการรักษาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้ดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก โดยผู้บริโภคชาวอเมริกัน 1 ใน 4 เห็นว่าการมีตัวเลือกของผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาลได้ส่งผลต่อ
การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เช่น แบรนด์ Celsius เป็นต้น
เครื่องดื่มชูกำลังแบบไม่มีน้ำตาลได้รับความนิยมอย่างมาก โดยผู้นำตลาดอย่างแบรนด์ Red Bull แบรนด์ Monster และแบรนด์ Rockstar ได้นำเสนอเครื่องดื่มชูกำลังที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม แสดงให้เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น จากผลการสำรวจพบว่า 1 ใน 6 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแบบไม่มีน้ำตาลใน 3 เดือนที่ผ่านมา และมี 1 ใน 3 คนของชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 18 – 34 ปีดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแบบไม่มีน้ำตาลใน 3 เดือนที่ผ่านมา
- การใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติและพืช
ผู้บริโภคชาวอเมริกันสนใจการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติมากขึ้น โดยพบว่าร้อยละ 26 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันสนใจผลิตภัณฑ์ที่มีคำกล่าวอ้างว่าผลิตจากธรรมชาติหรือจากส่วนผสมแท้ ในขณะที่ร้อยละ 23 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันสนใจผลิตภัณฑ์ที่มีคำกล่าวอ้างว่าไม่มีรสชาติหรือสีสังเคราะห์
การพัฒนาสูตรเครื่องดื่มชูกำลังที่ใช้ส่วนผสมจากพืชเป็นกลยุทธ์ล่าสุดที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมาจากธรรมชาติมากขึ้น อย่างเช่นแบรนด์ 1st Phorm ที่เน้นย้ำกว่าเป็นเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีนจากธรรมชาติ เช่น กาแฟเขียว สารสกัดจากชาเขียว ชาสมุนไพรเยอบามาเต (Yerba Mate) ที่ถูกนำมาผสมกับสารเพิ่มพลังงานจากพืชอื่นๆ อย่างโสม กวารานา (Guarana) และโรดิโอลา (Rhodiola) เป็นต้น
- เครื่องดื่มชูกำลังสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ชื่นชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์
เกมเมอร์เป็นผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง โดยมักจะเป็นคนรุ่นใหม่ โดยพบว่าร้อยละ 30 ของเกมเมอร์เพศชายที่มีอายุระหว่าง 18 – 34 ปี และร้อยละ 13 ของเกมเมอร์เพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18 – 34 ปี เคยดื่มเครื่องดื่มชูกำลังสำหรับเกมเมอร์ใน 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเครื่องดื่มชูกำลังสำหรับเกมเมอร์จะประกอบไปด้วยส่วนผสมที่เกี่ยวกับการมีสมาธิและการตอบสนองที่ดีขึ้น รวมถึงการมองเห็นและด้านความคิด เพราะนอกจากเครื่องดื่มจะมีคาเฟอีนแล้วยังมีสารอื่นๆ เช่น ลูทีน (Lutein) โคลีน (Choline) พรมมิ (Bacopa Monnieri) เสจ (Sage) แอลธีอะนีน (L-theanine) เป็นต้น
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
อุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลังในสหรัฐฯ ยังคงเติบโตและมีการพัฒนาสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทรนด์การรักษาสุขภาพและการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยอาจวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อนำมาผสมในเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อให้ตอบรับกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคชาวอเมริกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากชึ้น เช่น การใช้สารสกัดจากหญ้าหวานเพื่อลดการใช้น้ำตาล หรือสมุนไพรอื่นๆ ที่มีคุณประโยชน์ในด้านสมาธิ เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า หรือเพื่อบำรุงสายตา เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง: Euromonitor, Glanbia Nutritionals