หลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มความนิยมสินค้ามะพร้าวสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและธรรมชาติของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการประยุกต์ใช้มะพร้าวอย่างกว้างขวางในสาขาต่างๆ เช่น เครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสําอาง เป็นต้น ซึ่งส่งเสริมธุรกิจมะพร้าวของจีนให้มีแนวโน้มการพัฒนาที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติพบว่าในปี 2560 มูลค่าของตลาดมะพร้าวอยู่ที่ 10,280 ล้านหยวน และเพิ่มสูงถึง 14,440 ล้านหยวน ในปี 2564 คาดการณ์ว่ามูลค่าดังกล่าวจะทะลุ 20,000 ล้านหยวนในปี 2569
ประเทศจีนบริโภคมะพร้าวสดประมาณ 2,600 ล้านลูกและแปรรูปมะพร้าวประมาณ 1,500 ล้านลูกต่อปี ในขณะที่ผลผลิตมะพร้าวของจีนส่วนใหญ่มาจากมณฑลไห่หนาน โดยมีผลผลิตต่อปีประมาณอยู่ที่ 250 ล้านลูกเท่านั้น สามารถตอบสนองความต้องการในการบริโภคและการแปรรูปได้เพียงร้อยละ 6 เท่านั้น และที่เหลือต้องนําเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนำเข้าจากประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับหนึ่งของจีนในการนำเข้ามะพร้าวสด โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้ามะพร้าวสดจากต่างประเทศปริมาณ 558,450 ตัน มูลค่า 1,965 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับนำเข้าจากประเทศไทยมีปริมาณ 189,336 ตัน มูลค่า 1,261 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 44 สำหรับประเทศอื่นมีรายละเอียดดังนี้
นอกจากนี้ จีนยังนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวจากต่างประเทศด้วย เช่น น้ำมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว กากมะพร้าว สินค้าอาหาร และเครื่องสำอางที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น น้ำมะพร้าว ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าน้ำมะพร้าวจากต่างประเทศปริมาณ 87,116 ตัน มูลค่า 796 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งนำเข้าจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยมีมูลค่า 39 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 4.90 อันดับหนึ่ง คือ ประเทศเวียดนาม มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 55.53 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 36.35
ปัจจุบัน ธุรกิจมะพร้าวในตลาดจีนกำลังอยู่แนวโน้มการเติบโต แนวโน้มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากผู้บริโภคให้ความสําคัญกับแนวคิดของการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่มะพร้าวมีคุณสมบัติตามธรรมชาติดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งได้รับความชื่นชอบของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในตลาดเครื่องดื่ม น้ำมะพร้าวได้กลายเป็นช่องทางการบริโภคใหม่ ซึ่งได้ผลักดันให้ตลาดมะพร้าวเพิ่มขึ้นทุกปี กระแสนิยมมะพร้าวที่มาแรงในกลุ่มผู้บริโภคจีนเริ่มจากปี 2021 โดยยอดจำหน่ายเครื่องดื่มนมจากพืชใน 30 อันกับแรกในแพลตฟร์อม Tmall โดยมี 1 ใน 3 ประเภทเครื่องดื่มทำจากมะพร้าว นอกจากนี้ หลังจากแบรนด์ luckin coffee ที่นำมะพร้าวมาใส่ผสมกับกาแฟ และชื่อว่า Raw coconut latte สามารถจำหน่ายได้ 100 ล้านแก้วต่อเดือน และ Coconut cloud latte สามารถจำหน่ายได้ 4.96 ล้านแก้วต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน สาขาธุรกิจอื่นก็มีการนำมะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบด้วย เช่น Hotpot ซุปมะพร้าว ชานมใส่น้ำมะพร้าว ขนมไส้มะพร้าว และ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เป็นต้น สำหรับมะพร้าวที่นำเข้าจากไทยได้นำมาประยุกช์ใช้ในสาขาธุรกิจต่างๆ ดังกล่าว
สำหรับร้านกาแฟและร้านชานม โดยร้านค้าร้อยละ 92.5 ได้ใช้น้ำมะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการปรุงจำหน่าย แบรนด์ร้านกาแฟและร้านชานมที่มีชื่อเสียงนอกจากมี luckin coffee แล้ว ยังมี STARBUCKS , Tims, nowwa, HEYTEA, NAIXUE, CHAGEE และ coco เป็นที่นิยมในตลาดจีน นอกจากนี้ ตลาดเริ่มมีการเปิดร้านค้ามะพร้าวโดยเฉพาะอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีร้าน Hotpot ซุปมะพร้าวไก่หลายแบรนด์ โดยใช้น้ำมะพร้าวต้มเนื้อไก่เป็นอาหารหลักของร้าน Hotpot ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนเป็นอย่างมาก สำหรับเมืองหนานหนิงมีการเปิดร้านดังกล่าวจำนวนมากกว่า 100 แห่ง และอัตราการเติบโตที่ดี
ในขณะเดียวกัน นอกจากมะพร้าวสดแล้ว เครื่องดื่มมะพร้าวไทยก็มีสัดส่วนในตลาดสูงและมีหลายแบรนด์สินค้าที่จำหน่ายในตลาดจีน อาทิ if, Malee, Cocomax, Hico, KOH COCONUT , INNOCOCO , Lockfun เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มน้ำมะพร้าว และน้ำมะพร้าวผสมน้ำผลไม้อื่นเป็นหลัก นอกจากนี้ น้ำมะพร้าวผสมกาแฟก็เป็นกระแสที่มาแรง และมีแบรนด์ไทยนำสินค้ามาบุกเบิกตลาดจีนแล้ว เช่น ARABUS และ if เป็นต้น จากการค้นหาข้อมูลจำหน่ายที่แพลตฟอร์ม Taobao พบว่า กาแฟผสมน้ำมะพร้าวของไทยกำลังได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคจีน จะเห็นได้ว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับสินค้ามะพร้าวไทยทั้งในรูปแบบผลสด หรือผลผลิตจากการแปรรูป
ทั้งนี้ จึงกล่าวได้ว่า มะพร้าวไทยในตลาดจีนยังมีโอกาสเติบโตอย่างมหาศาล ด้วยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากขึ้น ความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวของผู้บริโภคจีนยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ความเห็น สคต. ณ เมืองหนานหนิง มะพร้าวของไทยมีคุณภาพดี รสชาติหวานหอม มีเอกลักษณ์ นอกเหนือจากคุณประโยชน์จากแร่ธาตุและวิตามิน ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่และผู้ที่รักสุขภาพซึ่งเป็นเทรนด์ในปัจจุบันหลังยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาดจีน ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ส่งออกมะพร้าวเข้าสู่ประเทศจีน หลังจากจีนให้อนุญาตนำเข้ามะพร้าวของเวียดนามอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป มะพร้าวเวียดนามอาจเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งของมะพร้าวไทยในตลาดจีน เนื่องจากเวียดนามมีความได้เปรียบด้านระยะทางขนส่งไปจีนใกล้กว่า ปริมาณผลผลิตสูง และราคาจำหน่ายถูกกว่า ปัจจุบันตัวเลขจากแหล่งข่าวระบุว่า ผลผลิตมะพร้าวเวียดนามอยู่ที่ 2 ล้านตัน คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 2.1-2.3 ล้านตันในปี 2573 ทั้งนี้ คงทำให้การนำเข้ามะพร้าวเวียดนามของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม มะพร้าวไทยได้ชื่อเสียงที่ตลาดจีนแล้วและมีภาพลักษณ์ที่ดี โดยเฉพาะเป็นมะพร้าวน้ำหอม ดังนั้น หน่วยงานทางการและองค์การที่เกี่ยวข้องของไทย อาจต้องยกระดับการขยายพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไทย และรักษาคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางจำหน่าย และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของมะพร้าวไทยในตลาดจีน เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศคู่แข่งต่อไป
———————————————————
แหล่งที่มา:
https://www.chinairn.com/hyzx/20240808/151324151.shtml
https://mp.weixin.qq.com/s/qkvLQuy8nNc0XjKiiR3f6g
https://www.chinairn.com/hyzx/20240823/173809814.shtml
https://mp.weixin.qq.com/s/VMtzTkUa_6WNWhR-vKDp-g
http://www.customs.gov.cn/
驻南宁国际贸易促进办公室