ยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญของกัมพูชา

  • ตามรายงานของกรมยางกัมพูชา (General Directorate of Rubber) ระบุว่า 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2567 กัมพูชา สร้างรายได้จากการขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศ มากกว่า 397 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้จากการขายยางพารา มีมูลค่า 394,061,327 เหรียญสหรัฐฯ และไม้ยางพารา มูลค่า 3,349,277 เหรียญสหรัฐฯ
  • ราคายางพารา อยู่ที่ 1,565 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้น 215 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือเท่ากับ 15.72% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และไม้ยางพารา อยู่ที่ 289 เหรียญสหรัฐฯ ต่อลูกบาศก์เมตร
  • กัมพูชามีพื้นที่ปลูกยางพารา ทั้งหมด 407,172 เฮกตาร์ โดยมีพื้นที่กรีดยางพารา จำนวน 320,184 เฮกตาร์ หรือเท่ากับ 78.64% และพื้นที่บำรุงรักษา 86,988 เฮกตาร์ หรือเท่ากับ 21.36% ของพื้นที่ทั้งหมด
  • ปัจจุบัน กัมพูชามีโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่ดำเนินงานอยู่ 3 โรงงาน โดยมีที่ตั้งอยู่จังหวัดสวายเรียง กรุงพระสีหนุวิลล์ และจังหวัดกระแจะ
  • ในปี 2566 กัมพูชา สร้างรายได้จากการขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ ไปยังตลาดต่างประเทศ ประมาณ 537.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.2% เมื่อเทียบกับปี 2565

ความเห็นของสำนักงานฯ

  1. ยางพาราถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของกัมพูชาที่มีการปลูกเป็นพื้นที่หลายแสนเฮกตาร์ ครอบคลุมหลายจังหวัด โดยสวนยางพาราเป็นของชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในที่ดินสัมปทานแปลงขนาดใหญ่​​​​ ปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานแปรรูปยางพาราที่กำลังดำเนินการ ประมาณ 65 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานยางแท่ง (Technically Specified Rubber: TSR) และโรงงานยางแผ่นคมควันและตากแห้ง
  2. ในปี 2567 ราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยการเพิ่มขึ้นจากการส่งออกและความต้องการภายในประเทศ ปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานผลิตยางรถยนต์จำนวน 3 โรงงาน ในอนาคต คาดว่า จะมีการลงทุนผลิตยางรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีตามกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น RCEP, CCFTA, CKFTA, CAM-UAE, CEPA เป็นต้น
  3. กัมพูชาเป็นผู้ผลิตยางพาราธรรมชาติ แต่กัมพูชามีโรงงานแปรรูปยางพาราไม่มาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการแปรรูปสินค้ายางพารา หรือ มีเทคนิคการทำสวนยางพารา
    อาจพิจารณาใช้กัมพูชาเป็นฐานผลิตสินค้ายางพาราได้ เนื่องจากกัมพูชามีเสถียรภาพทางการเมือง มีแรงงานไม่แพง และมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้นักลงทุน

————————–

ที่มา: Fresh News and Khmer Times

ตุลาคม 2567

zh_CNChinese