เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน (CAWA : China Agriculture Wholesale Market) ได้เปิดเผยภาพรวมล่าสุดของการนำเข้าทุเรียนสดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของจีน โดยระบุว่า ปัจจุบันจีนกลายเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก การบริโภคทุเรียนของจีนในปี 2566 คิดเป็น 91% ของการบริโภคทุเรียนทั้งหมดของโลก สถิติของกรมศุลกากรจีนแสดงให้เห็นว่าปริมาณและมูลค่าการนำเข้าทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นจาก 430,000 ตันและมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 เป็น 1.42 ล้านตัน และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกันยายน ปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนสด 1.38 ล้านตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% และ 5.6% ตามลำดับจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เดือนกันยายน ปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากทั่วโลกจำนวน 228,000 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้ากว่า 894 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 58.4% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 39% ในจำนวนนี้ มีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามจำนวน 167,000 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 640.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้น 90% และในด้านมูลค่าเพิ่มขึ้น 71.5% ขณะเดียวกัน จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนจากไทยจำนวน 58,000 ตัน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 243.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าลดลง 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเกือบ 618,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 2.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 72.2% และ 57.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นอัตราส่วนกว่า 44% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงเป็นซัพพลายเออร์ทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยจีนมีปริมาณการนำเข้าจากไทยเกือบ 755,000 ตัน มีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3.73 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -14.1% และ -13.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบเป็นรายปี
ทุเรียนไทยได้รับการอนุมัติให้นำเข้าจีนอย่างเป็นทางการจากกรมศุลกากรตั้งแต่ปี 2546 และครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่มาเป็นเวลานาน ในปี 2565 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากไทยจำนวน 784,000 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 95% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน โดยในปี 2566 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 929,000 ตันและมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.57 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เนื่องจากผลกระทบของทุเรียนเวียดนาม ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนไทยในตลาดจีนลดลงเหลือ 68% จนถึงปี 2567 โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน ปี 2567 สัดส่วนทุเรียนที่นำเข้ามาจากไทยจะลดลงอีกเป็น 60% โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนในประเทศไทย จะอยู่ในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน โดยระยะเวลาการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุดจะอยู่ในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม ทุเรียนพันธุ์หลักที่ไทยส่งออกไปยังประเทศจีน ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง, ทุเรียนกระดุมทอง (ระยะเวลาออกสู่ตลาดสั้น โดยจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน), ทุเรียนพวงมณี, ทุเรียนชะนี และทุเรียนก้านยาว ฯลฯ
ส่วนทุเรียนเวียดนามได้รับการอนุมัติจากกรมศุลกากรจีนให้ส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ปี 2565 และในปี 2566 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม 493,000 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 2.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 32% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน และตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน ปี 2567 จีนมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม จำนวน 618,000 ตัน และมีมูลค่า 2.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 39% โดยช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนในเวียดนามกระจุกตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม และผลผลิตสูงสุดจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งตรงกับช่วงระยะเวลาสิ้นสุดฤดูกาลทุเรียนของไทย ทุเรียนพันธุ์หลักในเวียดนาม ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง และทุเรียน Ri 6 (รี เซา หรือ เกิมหว่างหาดเล็บ)
นอกจากนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์จำนวน 6,000 ตัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 16.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 176% และมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 97% โดยทุเรียนฟิลิปปินส์มีเส้นทางการนำเข้าผ่านสนามบินหนานหนิงด้วยการขนส่งทางอากาศเป็นครั้งแรก ในเดือนเมษายน ปี 2566 จำนวน 18 ตัน ในปี 2566 จีนมีการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์ รวม 3,763 ตัน และตั้งแต่เดือนมกราคม- เดือนกันยายน 2567 ฟิลิปปินส์ส่งออกทุเรียน 6,260 ตันไปยังจีน แม้ว่าทุเรียนของฟิลิปปินส์จะมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศไทยและเวียดนาม แต่การส่งออกไปยังจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพันธุ์ทุเรียนที่ส่งออกไปจีนเป็นหลักของฟิลิปปินส์คือทุเรียนปูยัต และในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของฟิลิปปินส์จะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และช่วงเวลาที่ใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาลทุเรียนของฟิลิปปินส์จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ผลผลิตจะอยู่ประมาณหนึ่งในสี่ของฤดูการผลิตสูงสุด ซึ่งสามารถเติมเต็มในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลทุเรียนของไทยได้
ทุเรียนมาเลเซียได้รับการอนุมัติจากกรมศุลกากรจีนให้ส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2567 โดยทุเรียนสดของมาเลเซียชุดแรกเดินทางมาถึงสนามบินเจิ้งโจวในประเทศจีนด้วยเที่ยวบินพิเศษ จนถึงเดือนกันยายน ปี 2567 มาเลเซียส่งออกทุเรียนสดมายังจีนจำนวน 215 ตัน โดยมีมูลค่าการส่งออก 3.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ฤดูกาลผลิตทุเรียนหลักในมาเลเซียจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม และช่วงเวลาใกล้สิ้นสุดฤดูการผลิตทางภาคตะวันตกของมาเลเซียจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม โดยพันธุ์ทุเรียนหลัก ได้แก่ ทุเรียนมูซานคิงส์ ทุเรียนหนามดำ ทุเรียนกุ้งแดง (หรือเรียกว่า red prawn หรือมาเลเซียเรียกว่า udang merah) คิงสุลต่าน (หรือ ) During 24 (sultan) D24 เป็นต้น
ในด้านราคา ในเดือนกันยายน 2567 ราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่นำเข้ามาในจีนอยู่ที่ 3,926 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 12.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่นำเข้ามาในจีนอยู่ที่ 4,497 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่จีนนำเข้าจากไทยอยู่ที่ 4,947 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนราคาเฉลี่ยทุเรียนนำเข้าจากเวียดนามลดลง 8.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยลดลงอยู่ที่ 3,962 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ส่วนราคาเฉลี่ยทุเรียนนำเข้าจากฟิลิปปินส์ลดลง 28.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ลดลงอยู่ที่ 2,628 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ส่วนภายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่นำเข้ามาในจีนอยู่ที่ 4,497 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations,FAO) ระบุว่า 95% ของการส่งออกทุเรียนทั่วโลกส่งออกไปยังประเทศจีน โดยตามรายงานดังกล่าวอ้างถึงข้อมูลศุลกากรว่าในปี 2566 จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดประมาณ 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 12 เท่าของปี 2560 โดยประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ได้หันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทุเรียนอันมหาศาลของจีน อาทิ การผลิตทุเรียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ชาวไร่กาแฟเวียดนามเปลี่ยนจากการปลูกกาแฟหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับความต้องการในประเทศจีนแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในจีน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจประเทศลาว ซึ่งไม่เพียงแต่มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและแรงงานราคาถูกเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่รกร้างขนาดใหญ่อีกด้วย มีบริษัทของจีนได้เข้าร่วมลงทุนการปลูกทุเรียนในประเทศลาว โดยบริษัทดังกล่าวได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอัตตะปือ (ลาว: ອັດຕະປື, อัดตะปือ) เป็นแขวงหนึ่งของประเทศลาว ตั้งอยู่ที่ห่างไกลทางภาคใต้ของประเทศลาว โดยในปี 2565 บริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานที่ดินจำนวน 5,000 เฮกตาร์จากรัฐบาลลาวเป็นระยะเวลา 50 ปี และบริษัทมีแผนจะปลูกทุเรียนบนพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง
ในส่วนของผลผลิตทุเรียนภายในประเทศจีน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ผลิตทุเรียนในจีนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไห่หนาน มีพื้นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนที่ปลูกภายในจีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญกับความต้องการจำนวนมากของตลาดจีน ยังถือว่าฐานการผลิตทุเรียนในจีนยังมีน้อย ปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนในไห่หนานอยู่ที่ประมาณ 40,000 หมู่ (หรือประมาณ16,666 ไร่) ในปี 2567 พื้นที่สามารถออกผลผลิตทุเรียนได้อยู่ที่ประมาณ 4,000 หมู่ (หรือประมาณ1,666 ไร่) และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 250 ตัน อีกทั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ มีการรายงานข่าวว่าการทดลองปลูกทุเรียนในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน และสถานที่อื่นๆ โดยทุเรียนหมอนทองที่ปลูกโดยชาวบ้านเป็นเวลา 5 ปี บนระดับความสูงกว่า 970 เมตร ออกผลผลิตเต็มผล มีกลิ่นหอม และมีความหวานเกิน 34% อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกทุเรียนมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมสูง ส่งผลให้ในประเทศจีนมีพื้นที่ปลูกไม่มากนัก อีกทั้งที่ดินและแรงงานมีราคาแพงกว่าประเทศในอาเซียน ส่งผลให้ต้นทุนการปลูกสูง เมื่อเทียบกับพื้นที่การผลิตที่ได้เปรียบแบบดั้งเดิม เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุตสาหกรรมทุเรียนของจีนยังต้องมีการพัฒนาอีกในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จีนได้มีการมุ่งมั่นในการพัฒนาการปลูกทุเรียนในประเทศจีน และการลงทุนในพื้นที่ประเทศใกล้เคียง แสดงให้เห็นว่าผู้ส่งออกไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงอีกมาก
นอกจากนี้ มีอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสนใจตลาดทุเรียนของจีน ซึ่งก็ได้มีพื้นที่การผลิตทุเรียนเกิดใหม่บางประเทศ อาทิ ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศอื่นๆ ก็เริ่มปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าในอนาคต ตลาดทุเรียนของจีนจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยจะต้องจับตามองสถานการณ์ตลาดทุเรียนและพัฒนาผลผลิต รวมถึงควบคุมคุณภาพทุเรียนไทย เพื่อรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดได้ต่อไปในอนาคต
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ตั้งแต่ต้นปีนี้ การแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของจีนในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกทุเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยเห็นได้จากการที่ทุเรียนแช่แข็งของเวียดนามมีการนำเข้ามายังจีนเพิ่มขึ้น และทุเรียนสดของมาเลเซียเริ่มเข้าสู่ตลาดจีนในปี 2567 ตลอดจนผู้ส่งออกทุเรียนของลาวให้ความสนใจและเตรียมสำรวจโอกาสการปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในส่วนของโอกาสทุเรียนไทย การจัดส่งทุเรียนต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้สด เน่าเสียเร็ว ซึ่งการขนส่งทางบก ต้องประสบกับการจราจรที่ติดขัดในช่วงฤดูการขายทุเรียน อาจทำให้เวลาในการจัดส่งยาวนานขึ้น นับตั้งแต่เปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว การส่งออกทุเรียนของไทยไปยังจีน ก็ได้มีทางเลือกใหม่โดยการขนส่งทุเรียนจากไทยไปยังนครเวียงจันทน์ ประเทศลาวทางบกก่อน จากนั้นจึงส่งทุเรียนไปยังจีนอย่างรวดเร็วผ่านทางรถไฟจีน-ลาว โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 ลานขนถ่ายของสถานีเวียงจันทน์ใต้ของรถไฟจีน-ลาวสร้างเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ถือเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ปัจจุบัน การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาวครอบคลุม 12 ประเทศ รวมถึงลาว ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ 25 มณฑล ในจีน ในประเทศจีนก็ได้เปิดตัวรถไฟบรรทุกสินค้าข้ามพรมแดนจีน-ลาว อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางการค้า สำหรับประเทศและภูมิภาคตลอดเส้นทาง นับเป็นการเปิดช่องทางใหม่ในการส่งออกทุเรียนไทยไปยังจีน ซึ่งเดิมจากไทยไปคุนหมิงเคยใช้เวลาทางทะเล 7 วัน และทางรถยนต์ 5 วัน ปัจจุบัน ใช้เวลาเพียง 2 วันโดยรถไฟ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดที่สำคัญของโลก และจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ก่อนหน้านี้ ต้นทุนการขนส่งทุเรียน1 ตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 70,000-80,000 หยวน (หรือ350,000-400,000บาท) ปัจจุบันการขนส่งทุเรียนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้ลดต้นทุนเหลือประมาณ 20,000 หยวน (หรือ 100,000 บาท) ส่งผลให้ในปี 2566 ราคาทุเรียนในจีนลดลง 20 % – 50% ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการขนส่งทางรถไฟเป็นวิธีที่ประหยัดและเชื่อถือได้มากที่สุดในการขนส่งทุเรียน รถไฟจีน-ลาวได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยไปอย่างสิ้นเชิง และเพิ่มโอกาสให้กับการส่งออกทุเรียนไทย ให้สามารถแข่งขันกับทุเรียนจากประเทศคู่แข่งได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ตลาดจีนมีความต้องการสูง ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตทุเรียนต่าง ๆ ในอาเซียนต่างเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนสดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าได้จากไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมถึงทุเรียนที่เพาะปลูกภายในประเทศจีนเอง ทั้งนี้ ล้งและผู้ส่งออกของไทย จึงควรรักษาการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนไทย โดยเฉพาะปัญหาทุเรียนอ่อน การควบคุมแมลงศัตรูพืช รวมถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ทุเรียนไทยมากขึ้น เพื่อให้ผลไม้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี และทำให้ชาวจีนเข้าใจผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของผลไม้ไทยในตลาดจีนและการสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งจากต่างประเทศ จะนำไปสู่การรักษาส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนได้ต่อไป
แหล่งข้อมูล :
https://mp.weixin.qq.com/s/FfM-JeKf_guSEfzdRcn-aA https://mp.weixin.qq.com/s/9mRec8ZojkP0-E0KRNGbJA
https://mp.weixin.qq.com/s/2v3vub2GHV9z–fGEYFmbQ
https://mp.weixin.qq.com/s/mYrwnGAUg1v51QCTIQ47TQ
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1815486059121447956&wfr=spider&for=pc
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว