ฟิลิปปินส์เตรียมพร้อมบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร

             หน่วยงานหลักของรัฐบาลที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต่อต้านวินาศกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเกษตร(Anti-Agricultural Economic Sabotage หรือ AES) ยืนยันความพร้อมในการดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

          สมาชิกคณะกรรมการ AES และกลุ่มบังคับใช้กฎหมาย AES พร้อมด้วยหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่างๆได้จัดการประชุมครั้งแรก โดยสถาบัน Stratbase Institute ซึ่งกฎหมาย AES หรือ Republic Act 12022ได้กำหนดให้การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร การกักตุนสินค้า การค้ากำไรเกินควร และการผูกขาดถือเป็นการวินาศกรรมทางเศรษฐกิจ โดยผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้อาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับสูงสุด
ถึง 5 เท่าของมูลค่าสินค้า นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการลงนามและบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน2567 ที่ผ่านมา โดยในการประชุมดังกล่าวสมาชิกคณะกรรมการ AES และกลุ่มบังคับใช้กฎหมาย AES ได้เรียกร้องให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงการดำเนินการเชิงรุกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ของกฎหมายฉบับดังกล่าว

          นาย Felicisimo Madayag  Jr. ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและบังคับใช้ของกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) ได้เน้นย้ำว่า การดำเนินการอย่างเข้มข้นมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในภาคเกษตรกรรมได้เสริมว่า ความสำเร็จจะไม่ได้วัดจากจำนวนกฎหมายที่ผ่านหรือบทลงโทษที่กำหนด แต่จะวัดจากความไว้วางใจที่สร้างขึ้นในภาคเกษตรกรรม และความมั่นคงด้านอาหารของชาวฟิลิปปินส์

          นาย Randolph Pascasio ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีคดีลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร 192 คดี แต่สามารถดำเนินคดีได้เพียงร้อยละ 5 เนื่องจากความล่าช้าทางระบบราชการและเสริมว่า กฎหมายใหม่ที่มีขอบเขตที่กว้างขึ้นและบทลงโทษที่เข้มงวดขึ้นจะช่วยป้องกันการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง และนำบุคคลที่กระทำผิดและผู้สนับสนุนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

          นาย RP Manhit ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของสถาบัน Stratbase Institute ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยเสริมว่ากฎหมายเป็นเพียงหนึ่งส่วนของการแก้ปัญหาแต่การบังคับใช้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจะสามารถมั่นใจได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะบรรลุศักยภาพสูงสุดในการป้องกันห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร

          รองพลเรือเอก Robert Patrimonio หัวหน้าหน่วยบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงทางทะเลของกองทัพเรือฟิลิปปินส์กล่าวเสริมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบังคับใช้กฎหมาย ว่าตั้งแต่ปี 2565 ได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเนื้อสัตว์มูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านเปโซ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Philstar

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

  • รัฐบาลฟิลิปปินส์เตรียมพร้อมบังคับออกกฎหมาย Anti-Agricultural Economic Sabotage (AES) หรือการต่อต้านวินาศกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเกษตร เพื่อป้องกันการกระทำผิดที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมเช่น การลักลอบนำเข้าสินค้า การกักตุนสินค้า การค้ากำไรเกินควร และการผูกขาด ซึ่งมีบทลงโทษที่เข้มงวดเช่น การจำคุกตลอดชีวิตและการปรับสูงสุดถึง 5 เท่าของมูลค่าสินค้า กฎหมายนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้มีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) ได้ออกมาตรการใหม่ในการควบคุมราคาข้าวในเขตเมืองมะนิลาผ่านการจำกัดกำไรของผู้ค้า โดยจำกัดกำไรจากการจำหน่ายข้าวขัดสีทั่วไปและข้าวขัดสีคุณภาพดีไว้ที่ 3 – 5 เปโซต่อกิโลกรัมเพื่อลดราคาข้าวในตลาดให้เหลือประมาณ 43 เปโซต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวฟิลิปปินส์
  • แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีการเพาะปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ แต่การผลิตข้าวในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นทุกปีได้ โดยผลิตข้าวได้ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี ซึ่งยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเวียดนามและไทย นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในเอเชียเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในภาคข้าวที่มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงชีพของประชากรปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีความซับซ้อนด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และพายุไต้ฝุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง ทุกปี ฟิลิปปินส์จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากขึ้น โดยในปี 2566 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวรวม 3.61 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.65 จากปีก่อน โดยนำเข้าจากเวียดนามถึง 2.97 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 82.23 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด ส่วนไทยอยู่อันดับสองที่ 3.42 แสนตัน (ร้อยละ 9.46) และเมียนมา ที่ 1.56 แสนตัน (ร้อยละ 4.33) อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยยังคงมีคุณภาพมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถขยายโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นแม้จะมีการนำเข้าจากหลายประเทศ ฟิลิปปินส์ยังคงพึ่งพาแหล่งนำเข้าหลักเช่น ไทยและเวียดนามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคต

 

—————————–

驻马尼拉国际贸易促进办公室

ธันวาคม 2567

zh_CNChinese