โรมาเนียและบัลแกเรีย เฮ! ได้เข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น เริ่ม 1 มกราคม 2568

📰 ข่าวเด่นประจำเดือนธันวาคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกิจการภายใน (Justice and Home Affairs Council) มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกจุดตรวจหนังสือเดินทาง สำหรับการเข้า-ออกทางบก ระหว่างประเทศสมาชิกเขตเชงเก้น กับโรมาเนียและบัลแกเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยถือว่าโรมาเนียและบัลแกเรียได้เข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น (Schengen Area)[1] อย่างสมบูรณ์แล้ว จากการใช้เวลาร่วม 13 ปี นับตั้งแต่ที่คณะกรรมาธิการยุโรปลงความเห็นเมื่อปี 2554 ว่าโรมาเนียและบัลแกเรียมีสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น

 

ก่อนหน้านี้ ประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นได้นำร่องยกเลิกการตรวจเอกสารประจำตัว สำหรับการเข้า-ออกทางอากาศและทางทะเล ระหว่างประเทศสมาชิกเขตเชงเก้น กับโรมาเนียและบัลแกเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมาทว่าการเดินทางทางบกยังต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร โดยปัญหาสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาพิจารณามากที่สุด คือประเทศออสเตรียที่ออกมาคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย โดยอ้างว่าการลักลอบเข้าเมืองมายังภูมิภาคยุโรปตะวันตก มักจะผ่านมาจากทางโรมาเนียและบัลแกเรีย

 

อย่างไรก็ดี ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ฮังการีในฐานะประธานหมุนเวียนแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (President of the Council of the European Union) ได้พยายามผลักดันให้โรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นอย่างเต็มที่ด้วยวิธีทางการทูต โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 รัฐบาลฮังการีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของออสเตรีย โรมาเนีย และบัลแกเรีย ณ กรุงบูดาเปสต์ ซึ่งผลการประชุมฯ ออกมาในแง่บวกเป็นอย่างมาก โดยผู้แทนรัฐบาลออสเตรียส่งสัญญาณว่าจะให้ความเห็นชอบสนับสนุนสมาชิกภาพของโรมาเนียและบัลแกเรีย ในที่ประชุม Justice and Home Affairs Council ในเดือนธันวาคม 2567

 

การที่โรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้น ทำให้ผู้ที่จะเดินทางเข้า-ออกโรมาเนียและบัลแกเรียไม่ต้องเสียเวลาตรวจเอกสารประจำตัวที่จุดผ่านแดน ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ อีกต่อไป ส่วนพลเมืองสหภาพยุโรปสามารถเดินทางข้ามพรมแดนโรมาเนียและบัลแกเรียได้ โดยใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนที่ออกโดยหน่วยงานรัฐของประเทศของตน ไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง สำหรับนักท่องเที่ยวจากนอกสหภาพยุโรปที่ต้องการขอวีซ่าระยะสั้น เพื่อมาเยือนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลโรมาเนียและบัลแกเรียทั่วโลก ก็จะสามารถออกวีซ่าเชงเก้น ที่สามารถใช้เดินทางเข้าประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นอื่นๆ ได้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ยังมีความกังวลต่อวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยในทวีปยุโรป จึงมีการตั้งด่านตรวจเอกสารประจำตัวชั่วคราวตามชายแดนของตน เพื่อสกัดกั้นการย้ายถิ่นฐานแบบผิดกฎหมาย โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่รัฐบาลออสเตรียยกขึ้นมาในที่ประชุม ณ กรุงบูดาเปสต์ คือ การขอให้ยังคงด่านตรวจเอกสารประจำตัว ณ จุดผ่านแดนทางบก ระหว่างชายแดนฮังการี-โรมาเนีย และโรมาเนีย-บัลแกเรีย เป็นการชั่วคราว อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้สหภาพยุโรปยังสามารถบริหารจัดการพื้นที่ชายแดน และควบคุมการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 การผ่านแดนทางบกอาจจะยังไม่คล่องตัวอย่างสมบูรณ์นัก โดยเฉพาะช่องทางการขนส่งสินค้าหลักระหว่างสองประเทศนี้กับประเทศอื่นๆ ยังเป็นการขนส่งสินค้าทางบก ซึ่งการที่รถบรรทุกขนสินค้าต้องรอตรวจเอกสารที่ชายแดน โดยเฉพาะชายแดนฮังการี-โรมาเนีย และกรีซ-บัลแกเรีย ทำให้โรมาเนียและบัลแกเรียเสียเวลาและโอกาสทางการค้า

 

[1] ความตกลงเชงเก้น (Schengen Agreement) เป็นความตกลงระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป ที่อนุญาตให้พลเมืองของประเทศสมาชิกความตกลงสามารถเดินทางในเขตเชงเก้นได้อย่างอิสระ และยังอนุญาตให้พลเมืองจากประเทศที่สามนอกสหภาพฯ ที่ถือวีซ่าเชงเก้น สามารถพำนักในเขตเชงเก้นระยะสั้นไม่เกิน 90 วันได้ ส่วนผู้ถือบัตรพำนัก (Residence Permit) ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีสิทธิเดินทางข้ามประเทศได้เสรีภายในเขตเชงเก้น โดยไม่ต้องผ่านตรวจเอกสารประจำตัว

ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี กรีซ ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลต้า เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และสวีเดน

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

การที่โรมาเนียและบัลแกเรียได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกเชงเก้นได้สำเร็จ นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการด้านต่างๆ ในทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การท่องเที่ยว และโดยเฉพาะการขยายมูลค่าเศรษฐกิจการค้าทั้งในยุโรป และการค้าระหว่างประเทศกับประเทศนอกยุโรป ทั้งนี้ คาดว่าหลังยกเลิกจุดตรวจหนังสือเดินทางชั่วคราวแล้ว ทั้งโรมาเนียและบัลแกเรียซึ่งมีพื้นที่ ประชากร และทรัพยากรอันมากมาย จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มกิจกรรมทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

การพัฒนาในส่วนนี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถเดินทางไปประเทศทั้งสองสะดวกขึ้น ลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ส่วนในแง่ของการร่วมมือกันทางการค้าในภาคธุรกิจ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า/บริการที่สำคัญในภูมิภาค การพบปะผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการขนส่งสินค้าในท้องถิ่น ก็จะได้รับอานิสงส์จากข้อตกลงอันนี้เป็นอย่างมาก

 

การเปิดช่องทางการค้าครั้งนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้ามายังประเทศยุโรปอื่นๆ อยู่แล้ว ได้มีโอกาสพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดตลาดสู่โรมาเนียและบัลแกเรียอีกด้วย ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา คือการหาผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) ที่น่าเชื่อถือในการขยายตลาดไปยังสองประเทศนี้ เนื่องจากเพิ่งอยู่ในขั้นตอนการเริ่มต้นการเข้าตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังการร่วมมือกับบริษัทที่นำเสนอตนเอง ทั้งนี้ สคต.ณ กรุงบูดาเปสต์ จะติดต่อประสานงานและหารือกับหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองประเทศ เพื่อรับทราบเกี่ยวกับแนวนโยบายสิทธิประโยชน์ และความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องตระหนักไว้ด้วย

 

ที่มาของข้อมูล

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
ธันวาคม 2567

 

zh_CNChinese