ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ตลาดผลไม้หลายแห่งในจีนรายงานว่าราคาผลไม้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งมีผู้บริโภคชาวจีนเป็นจำนวนมากแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ต่อราคาที่สูงของสินค้าผลไม้ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ระบุเป็นผลไม้นำเข้า จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม และก่อให้เกิดความกังวลในทุกภาคส่วนของสังคมจีน

เนื่องจากมาตรฐานการครองชีพของชาวจีนดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการการบริโภคที่สูงขึ้นและผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ตลาดจีนจึงต้องนำเข้าผลไม้ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากผลไม้นำเข้ามีความหลากหลาย คุณภาพคงที่ มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ผลไม้นำเข้าได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ผลไม้นำเข้าจึงกลายมาเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคจำนวนมาก ร้านค้าบางแห่งในจีนจึงใช้ประโยชน์จากการที่ชาวจีนนิยมบริโภค “สินค้านำเข้า” โดยการนำกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้านำเข้ามาใส่ผลไม้ที่ผลิตในประเทศจีนเพื่อขายเป็นผลไม้นำเข้าและได้มีการจำหน่ายในราคาที่สูงมาก

ตามรายงานของสำนักข่าว CCTV ของจีน ระบุว่า องุ่นพันธุ์ “Sunrise Rose” ซึ่งอ้างว่านำเข้าจากญี่ปุ่น หลังจากบรรจุหีบห่อแล้ว สามารถขายได้ในราคาสูงเป็นพิเศษ และยังมีสาลี่พันธุ์ญี่ปุ่น ถูกสวมรอยที่พบในตลาดจีน มีอักษรญี่ปุ่นพิมพ์อยู่บนกล่องบรรจุภัณฑ์ แต่ที่จริงแล้วเป็นผลไม้ที่ผลิตในมณฑลซานตงอย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ผลไม้ที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากญี่ปุ่น มีเพียงแอปเปิลและลูกแพร์ นอกจากนี้ ยังพบส้มจากแอฟริกาใต้ มีการสวมรอยให้เป็นส้มออสเตรเลีย ซึ่งตราสินค้าเองก็เหมือนแบรนด์ดั้งเดิมจนแยกแยะได้ยาก

ตามกฎระเบียบการนำเข้าผลไม้ของจีน จะต้องมีใบอนุญาตกักกันสัตว์และพืชที่ออกโดยศุลกากร และใบรับรองกักกันพืชที่ออกโดยประเทศหรือภูมิภาคผู้ส่งออก ซึ่งต้องระบุชื่อผลไม้ แหล่งกำเนิด รวมถึงชื่อหรือรหัสโรงงานบรรจุภัณฑ์เป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษบนกล่องบรรจุภัณฑ์ ผู้บริโภคสามารถใช้สิ่งนี้เพื่อทราบแหล่งที่มาของผลไม้ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันการจัดการการติดฉลากผลิตภัณฑ์ผลไม้นำเข้าในจีนยังไม่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด และยังไม่มีข้อกำหนดบังคับที่เป็นหนึ่งเดียว ส่งผลให้ร้านค้าบางแห่งใช้ช่องโหว่นี้ นำฉลาก “ผลไม้นำเข้า” ติดบนผลไม้ที่ผลิตในจีน

ปัจจุบัน จีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยได้ 22 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าว ฝรั่ง  เงาะ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วย เสาวรส มะละกอ ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ มะเฟือง น้อยหน่า มะขาม มะม่วง ลิ้นจี่ ชมพู่ ในขณะที่ชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงนิยมบริโภคผลไม้เมืองร้อน อาทิ ทุเรียน มังคุด สัปปะรด ลำไย มะพร้าว ซึ่งผลไม้ไทยมีชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะทุเรียนไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลทุเรียนของไทยมีขนาดใหญ่ เนื้อเยอะ รสชาติหอมหวานนุ่มละมุน โดยทุเรียนสายพันธุ์ไทยที่เป็นที่นิยมและชื่นชอบในหมู่ชาวจีน ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง  พันธุ์กระดุมทอง พันธุ์ชะนี  พันธุ์พวงมณี และพันธุ์ก้านยาว ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าทุเรียนหลักของตลาดจีนมาอย่างยาวนาน

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

เนื่องด้วยจีนมีประชากรเป็นจำนวนมาก ทำให้จีนมีความต้องการผลไม้ในแต่ละปีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจประเทศจีนซบเซาลง ส่งผลให้ชาวจีนใช้จ่ายน้อยลง แม้ว่าชาวจีนจำนวนมากมีรสนิยมชื่นชอบผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลไม้ดังกล่าวมักมีราคาสูง ผลไม้พันธุ์นำเข้าที่เพาะปลูกในจีน จึงมีจุดได้เปรียบมากขึ้นในตลาดจีน ส่งผลให้มีพ่อค้าบางรายนำผลไม้พันธุ์นำเข้าที่เพาะปลูกในจีนเหล่านี้ มาสวมรอยเป็นผลไม้นำเข้า เพื่อเพิ่มราคาจำหน่ายให้สูงขึ้นแต่ยังคงมีราคาต่ำกว่าผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ

ในช่วง Covid-19 การนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ได้รับผลกระทบจากนโยบายการกักกันโรคของจีน เปิดช่องว่างให้กับเกษตรกรรมการเพาะปลูกผลไม้พันธุ์ใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มณฑลไห่หนาน และมณฑลยูนหนาน ได้พัฒนาเป็นมณฑลที่สามารถเพาะปลูกผลไม้พันธุ์นำเข้าได้ ทั้งนี้ หากในระยะยาว มีการเพาะปลูกผลไม้พันธุ์นำเข้าชนิดอื่นๆ สำเร็จและมีผลผลิตจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดการสวมรอยแบรนด์ผลไม้เพิ่มมากขึ้น

แม้ว่าผลไม้ไทยเป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีข้อจำกัดในการเพาะปลูกภายใต้ภูมิอากาศของประเทศจีน แต่เนื่องด้วยจีนมีแหล่งนำเข้าผลไม้เมืองร้อนเพิ่มมากขึ้น จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงจากการนำผลไม้ประเทศอื่นหรือผลไม้ภายในประเทศจีนมาสวมรอยแบรนด์ที่เป็นผลไม้พรีเมี่ยมจากประเทศไทยและเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่า จึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องจับตามองสถานการณ์ตลาดผลไม้ในจีนอย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้ประกอบการไทยควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์แบรนด์ และสร้างการรับรู้ในการแยกความแตกต่างระหว่างผลไม้ไทยกับผลไม้ประเทศอื่นๆ ให้กับผู้บริโภคชาวจีน โดยใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมิเดียของจีน เพื่อให้ผู้บริโภคจีนรับรู้และเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

 

 

 

แหล่งข้อมูล :

https://finance.china.com.cn/industry/20250105/6203044.shtml

ภาพ : https://www.sohu.com/a/525239347_226118

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

zh_CNChinese