ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของประธานาธิบดีทรัมป์

แม้แต่ประเทศคู่ค้าสำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาก็ไม่รอดพ้นจากนโยบายภาษีศุลกากรที่ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนก และทำให้ผู้กำหนดนโยบายทางการค้าต้องเร่งหาทางตอบโต้หรือบรรเทา
แล็ปท็อปจากไต้หวัน ไวน์จากอิตาลี กุ้งแช่แข็งจากอินเดีย รองเท้าผ้าใบไนกี้จากเวียดนาม และเนยจากไอร์แลนด์ — สินค้าทั้งหมดนี้สามารถพบได้ในบ้านของชาวอเมริกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำด้านการค้าเสรี และการเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่าสูงที่สุดสำหรับสินค้าจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สินค้าเหล่านี้รวมถึงสินค้าอีกหลากหลายประเภทต้องเผชิญกับอัตราภาษีเพิ่มเติม หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% กับประเทศคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังประกาศเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นกับ 60 ประเทศที่เขามองว่าเป็น “ผู้กระทำผิดร้ายแรงที่สุด” ในด้านนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จากนโยบายการค้าเดิมของสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ประธานาธิบดีทรัมป์กำหนดให้สินค้านำเข้าทั้งหมดต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 10% วันที่ 5 เมษายน 2568 นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น ในวันที่ 9 เมษายน 2568 โดยสำหรับสหภาพยุโรปและจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ทำเนียบขาวได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้ที่ 20% และ 34% ตามลำดับ โดยภาษีเพิ่มเติมที่จีนต้องจ่ายจะถูกรวมกับอัตราภาษี 20% ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยประกาศเรียกเก็บไว้ก่อนหน้านี้ แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิด เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็ไม่รอดพ้นจากมาตรการภาษีนี้ รวมไปถึงออสเตรเลียและบราซิล ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศนี้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากกว่าส่งออก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของประธานาธิบดีทรัมป์

การประกาศนโยบายนี้ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เรียกว่า “วันแห่งอิสรภาพของอเมริกา” ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก และทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระดับโลก ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงทันทีที่ข่าวนี้ออกมา เนื่องจากนักลงทุนต่างตื่นตระหนกกับอัตราและขอบเขตของมาตรการภาษีศุลกากร
ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือนนับจากดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรต่อแคนาดา เม็กซิโก และจีน รวมถึงภาษีนำเข้าสำหรับเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ คำสั่งฝ่ายบริหารที่ประกาศเมื่อวันพุธมีการยกเว้นภาษีสำหรับบางสินค้า เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยา และไม้แปรรูป อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าสินค้าเหล่านี้อาจเป็นเป้าหมายต่อไปของการประกาศเก็บภาษีเพิ่มเติม
บรรดาพันธมิตรและคู่แข่งของสหรัฐฯ ต่างพยายามทำความเข้าใจกับมาตรการภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศออกมา ซึ่งส่งผลให้ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดในรอบกว่าร้อยปี และไม่มีสัญญาณของการผ่อนปรน บางประเทศขู่จะตอบโต้ ขณะที่บางประเทศพยายามผลักดันการเจรจาอย่างเปิดเผย และบางประเทศเลือกใช้ช่องทางลับเพื่อเจรจาเรียกร้องเงื่อนไขที่ผ่อนคลายลง
จีนกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าเป็น “ผู้ใช้อำนาจข่มขู่ฝ่ายเดียว” และให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตน เกาหลีใต้เรียกประชุมหน่วยงานฉุกเฉินและให้คำมั่นว่า “จะใช้ทรัพยากรของรัฐบาลทั้งหมดเพื่อรับมือกับวิกฤตการค้า” ในขณะที่รัฐบาลบราซิลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Luiz Inácio Lula da Silva กำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ
ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568 ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ursula von der Leyen กล่าวว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเจรจา และยังกล่าวด้วยว่าสหภาพยุโรปกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการภาษีตอบโต้ที่ได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้สำหรับภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ
เอเชียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการภาษีของทรัมป์
มาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเอเชีย เวียดนามซึ่งเคยได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ ถูกเก็บภาษีศุลกากรสูงถึง 46% ในขณะที่ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย ต้องเผชิญกับภาษีนำเข้ามากกว่า 30% และทำเนียบขาวได้กำหนดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากอินเดียที่ 26%
ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่ฟื้นตัวจากความขัดแย้ง วิกฤต หรือความยากจน ได้ใช้การส่งออกสินค้าเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นเวลานานหลายทศวรรษ แต่มาตรการภาษีใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันและญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการค้า หรือประเทศที่ยากจนกว่าและกำลังพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเอง เช่น กัมพูชาและบังกลาเทศ
กัมพูชาซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าส่งออก ต้องเผชิญกับภาษีสูงถึง 49% โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา นาย Sok Eysan โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา กล่าวว่า “ในฐานะประเทศเล็กๆ เราแค่อยากจะอยู่รอด”
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวโทษว่าสินค้าราคาถูกจากประเทศเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกาตกต่ำลง อย่างไรก็ตาม สินค้าราคาถูกเหล่านี้ก็ช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และทำให้ราคาสินค้าต่างๆ สำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันถูกลง
นาย Sarang Shidore ผู้อำนวยการโครงการ Global South ของสถาบัน Quincy Institute for Responsible Statecraft ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า ภาษีเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศกำลังพัฒนา และอาจเร่งให้หลายประเทศมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพาสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม “เมื่อพูดถึงการค้า เราอยู่ในโลกที่มีหลายขั้ว และมีตลาดทางเลือกอยู่ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาพร้อมกับความเจ็บปวดและต้นทุนในการปรับตัว”
นายกรัฐมนตรี Anthony Albanese ของออสเตรเลีย กล่าวว่าออสเตรเลียจะไม่ตอบโต้ด้วยมาตรการภาษี โดยยืนยันว่าออสเตรเลียจะไม่เข้าร่วมสงครามการค้าที่จะนำไปสู่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของญี่ปุ่นต่างตกตะลึงกับอัตราภาษีใหม่ 24% ที่ประเทศต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าอัตราภาษีของญี่ปุ่นสำหรับสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก ญี่ปุ่นกล่าวถึงมาตรการภาษีสหรัฐฯ นี้ว่า “น่าเสียใจอย่างยิ่ง” และให้คำมั่นว่าจะพยายามขอยกเว้นภาษีต่อไป นายกรัฐมนตรี Shigeru Ishiba ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการลงทุนของญี่ปุ่นเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นไปที่การซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว
นาย Takeshi Niinami ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Suntory Holdings บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์วิสกี้ระดับพรีเมียม กล่าวก่อนที่มาตรการภาษีใหม่จะถูกประกาศว่า “อาจเกิดช่วงเวลาแห่งความโกลาหล แต่ท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” ซึ่งเขาเชื่อว่าภาษีเหล่านี้อาจมีการเจรจาให้ลดลงได้ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ
บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Exiger คำนวณว่ามูลค่าจากมาตรการภาษีใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์จะอยู่ที่ประมาณ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยภาษีส่วนใหญ่จะมาจาก 10 ประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งต้องรับภาระภาษีเพิ่มเติมถึง 149,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าจากเวียดนามจะต้องเสียภาษีถึง 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไต้หวันอยู่ที่ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สินค้าจากเยอรมนีและไอร์แลนด์รวมกันจะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราภาษีที่สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บจากเวียดนามสูงมากและอาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลกในระยะยาว เนื่องจากเวียดนามได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตทดแทนจีน บริษัทผลิตสินค้าเทคโนโลยีได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังเวียดนามเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้ากับจีนในช่วงการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ และในปัจจุบันหนึ่งในสามของสินค้าส่งออกของเวียดนามก็เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
Apple ได้ย้ายฐานการผลิต AirPods นาฬิกา Apple Watch และ iPad ไปยังเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังได้ย้ายการผลิต iPhone บางส่วนไปยังอินเดีย หลังจากที่เคยพึ่งพาโรงงานในจีนเพียงอย่างเดียว
กลุ่มบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ของเกาหลีใต้ ได้ลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวียดนามนับตั้งแต่เริ่มเปิดโรงงานที่เวียดนามเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในปัจจุบัน ซัมซุงผลิตสินค้าในเวียดนามมากกว่าจีน โดยในปีที่แล้ว บริษัทผลิตสินค้ามูลค่าประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากโรงงานในเวียดนาม และส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ไปยังตลาดโลก เวียดนามจึงได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกจากนโยบายประธานาธิบดีทรัมป์ในสมัยแรก การเติบโตนี้ทำให้เวียดนามมีดุลการค้ากับสหรัฐฯ เกินดุลถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 ซึ่งสูงเป็นอันดับสามรองจากจีนและเม็กซิโก
ในช่วงแรกการค้าส่วนใหญ่ของเวียดนามมาจากการที่บริษัทต่างๆ ส่งสินค้าผ่านเวียดนามเพื่อเลี่ยงภาษีจากจีน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเวียดนามได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่แท้จริง และดึงดูดการลงทุนจากบริษัทที่ต้องการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่
ในปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นกว่า 30% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งสินค้าส่งออก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน เสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ไม้ เมื่อปีที่แล้ว หนึ่งในสามของรองเท้าที่ขายในสหรัฐฯ ผลิตในเวียดนาม และ Nike ผลิตรองเท้าประมาณ 50% ในประเทศนี้
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฟาม มินห์ จิ่ญ เรียกประชุมฉุกเฉินกับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ภาษี นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ กำลังพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการคำนวณภาษีของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่สมาคมธุรกิจและบริษัทต่างๆ หวังว่ารัฐบาลจะสามารถเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีลงได้
ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยย้ำว่าพร้อมที่จะเจรจาและร่วมพูดคุยกับสหรัฐฯ แต่ก็แนะนำให้บริษัทต่างๆ มองหาตลาดใหม่เพื่อเตรียมการรองรับภาษี 36% ที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บต่อสินค้าไทย
นาย แพทริค ซุง เจ้าของบริษัท Allitra  ซึ่งช่วยบริษัทสหรัฐฯ ออกแบบและผลิตสินค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าภาษีใหม่นี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง ลูกค้าของเขาผลิตสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่กระเป๋าเดินทาง อุปกรณ์กล้อง ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งบริษัทของเขาใช้เวลาหลายเดือนในการมองหาทางเลือกใหม่แทนจีน แต่หลังจากที่มีประกาศอัตราภาษีใหม่ในวันพฤหัสบดี เขาก็เริ่มวางแผนย้ายการผลิตบางส่วนออกจากไทยและเวียดนามแล้ว โดย นาย แพทริค ซุง วางแผนจะเดินทางไปยังฟิลิปปินส์เพื่อสำรวจโรงงานใหม่ที่อาจใช้เป็นฐานการผลิตเพิ่มเติม เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์กำหนดอัตราภาษีสำหรับฟิลิปปินส์ที่ 17% ซึ่งต่ำกว่าภาษีของไทยกว่าครึ่ง และต่ำกว่าภาษีของเวียดนามเกือบหนึ่งในสาม
นอกจากนี้ นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ยังสร้างความยุ่งยากให้กับธุรกิจขนาดเล็กของชาวอเมริกันเองอีกด้วย นาย Brenden McMorrow ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Move2Play บริษัทของเล่นในเมืองทอร์แรนซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า บริษัทผลิตสินค้าทั้งหมดในจีนมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา แต่เริ่มพิจารณาโรงงานในเวียดนามหรืออินเดียเพื่อลดผลกระทบจากภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม พบว่าโรงงานในเวียดนามนั้นดำเนินการโดยบริษัทจีนและใช้วัสดุจากจีนซึ่งมีต้นทุนที่ไม่ต่างกันมากนักกับการผลิตในจีน อย่างไรก็ดี บริษัทจึงตัดสินใจทดลองผลิตของเล่นบางรุ่นในอินเดีย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดูจะคุ้มค่ามากขึ้นหลังจากที่เวียดนามถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง นอกจากนี้ บริษัทยังเคยศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตในสหรัฐฯ แต่พบว่าต้นทุนสูงกว่าการผลิตในจีนถึงห้าเท่า และแม้จะต้องเผชิญกับต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น เขาก็ยังไม่เห็นว่าสหรัฐฯ จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
“ผมไม่คิดว่ามันสมเหตุสมผลที่จะลงทุนในการผลิตในสหรัฐฯ มากนัก ถ้าประธานาธิบดีคนต่อไปเข้ามาแล้วกลับลำยกเลิกภาษีทั้งหมด คุณก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่แย่มาก มันสมเหตุสมผลกว่าที่จะยึดการผลิตในที่ที่เราทำอยู่ตอนนี้ แทนที่จะเสี่ยงทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง The New York Times
zh_CNChinese