จากการวิจัยของ Yano Research Institute คาดว่าตลาดที่เกี่ยวข้องกับ “โอชิ” Oshi ซึ่งหมายถึง ไอดอล อนิเมะ ศิลปิน ตัวคาแรคเตอร์ต่างๆ ที่ตัวเองชื่นชอบ
จะมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 280,000 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2567
ซึ่งการประเมินนี้รวมถึงการขายสินค้า (goods),ค่าตั๋วต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
- อันดับ 1: ดารา-นักแสดง (8%)
- อันดับ 2: นักดนตรี (4%)
- อันดับ 3: ตัวละครจากอนิเมะหรือมังงะ (1%)
คนหนุ่มสาวในปัจจุบันมีการทำกิจกรรมสนับสนุนเหล่า “โอชิ” Oshi เป็นศูนย์กลางของชีวิต หรือกลุ่มคลั่งไคล้ดาราหรือคนดัง ในภาษาญี่ปุ่นเรียกกิจกรรมเหล่านั้นว่า “โอชิคัตสึ ” [Oshikatsu] ซึ่งพวกเขามักประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้เสื้อผ้ามือสอง แต่ยินดีที่จะใช้จ่ายอย่างเต็มที่กับโอชิคัตสึและสิ่งที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่าจำนวนเงินที่ใช้ไปกับการทำโอชิคัตสึ ในกลุ่มคนวัย 30 ปีหรือต่ำกว่านั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 เยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 47,000 บาท) ต่อปี ในขณะที่กลุ่มคนวัย 40 ปีขึ้นไป ใช้ประมาณ 70,000 เยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 21,000 บาท) ต่อปี
ยกตัวอย่าง กรณีหญิงสาววัย 20 ปี ที่เป็นแฟนคลับไอดอลชายคนหนึ่ง เดินทางจากโตเกียวไปค้างคืน ที่ฟุกุโอกะเพื่อดูคอนเสิร์ต เพื่อให้ได้พบกับโอชิในสภาพที่ดูดีที่สุด เธอไปร้านทำเล็บและร้านทำผม รวมทั้งซื้อเสื้อผ้าใหม่ จากรายได้สุทธิเดือนละ 200,000 เยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 47,000 บาท)
บางเดือนเธอใช้เงินกับโอชิคัตสึมากถึง 50,000 เยน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 12,000 บาท) เลยทีเดียว
สิ่งที่ผู้คนคาดหวังจากการทำโอชิคัตสึ พบว่า :
- 66% ต้องการ “ความผ่อนคลาย ความสบายใจ”
- 4% ต้องการ “แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต”
- 6% ต้องการ “การระบายความเครียด”
- ส่วน “ความรู้สึกคล้ายความรัก” อยู่ที่9%
หนังสือพิมพ์นิคเคอิ (Nikkei) ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวกับ “โอชิคัตสึ” (กิจกรรมสนับสนุน “โอชิ”) จากผู้ตอบแบบสอบถาม 398 คน อายุระหว่าง 16–70 ปี พบว่า 55.5% ของผู้ตอบทำกิจกรรม “โอชิคัตสึ”อยู่ในปัจจุบัน และถ้ารวมผู้ที่เคยทำโอชิคัตสึในอดีตด้วย จะมีมากกว่า 70%
กลุ่มอายุที่ให้การสนับสนุนทำ “โอชิคัตสึ”
- กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี : 9%
- อายุ 30–50 ปี : เกือบ 80%
- อายุ 60 ปีขึ้นไป : 3%
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ละครและนักแสดงที่รับบท BL ของไทยนั้นก็กลายเป็นเป้าหมายของการทำโอชิคัตสึด้วยเช่นกัน
เว็บไซต์ https://shop.oshithai.com/ จัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับละครไทยและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีการขายสินค้าในตลาดข้ามพรมแดน (Cross-border EC) เว็บไซต์ https://thaifun-shop.com/ เป็นเว็บไซต์ที่มุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ที่ทำโอชิคัตสึนักแสดงไทย โดยจำหน่ายสินค้าสนับสนุนการทำโอชิคัตสึ และของที่ระลึกจากไทยนอกจากนี้ยังมีการเปิดให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ “Boys Meeting from Thailand” https://boys-meeting.jp/ ซึ่งเป็นการบริการที่ใช้นักแสดงชายของไทยเป็นนายแบบ
ในปี 2567 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจสำหรับละครไทย ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 40 แห่ง รวมถึงสถานีโทรทัศน์และสื่อรายใหญ่เข้าร่วมด้วย ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ได้จัดงาน meet & greet กับนักแสดงจากละคร BL และ GL โดยมีชาวญี่ปุ่นประมาณ 50 คนที่ซื้อบัตรเพื่อเข้าร่วมงาน ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีการจัดเทศกาลไทยที่สวนสาธารณะโยโยงิในกรุงโตเกียว ซึ่งการแสดงจากนักแสดงไทยได้รับความนิยมอย่างมากจนมีแฟนๆ จำนวนมากมาเข้าร่วมชื่นชมในงานดังกล่าว
แบรนด์เครื่องสำอางไทย CathyDoll ได้ใช้นักแสดงจากละคร BL เป็นพรีเซ็นเตอร์ ทำให้แบรนด์นี้ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นและมีการนำเข้าไปจำหน่าย ความคิดสร้างสรรค์ของไทยกำลังได้รับความสนใจในญี่ปุ่น ได้รับแรงสนับสนุนจากกระแส “โอชิคัตสึ” ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในด้าน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ อาหาร และแฟชั่น ซึ่งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในระดับสากล ญี่ปุ่นเองก็มีแนวทาง Cool Japan ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรม เช่น อนิเมะ เกม และแฟชั่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการขยายอิทธิพลของ Soft Power ไทยในต่างประเทศเช่นกัน
คำแนะนำสำหรับผู้ส่งออกไทย
ในงานแสดงสินค้าและการเจรจาธุรกิจ “LIFESTYLE WEEK” มีการจัดงาน “Oshikatsu Expo” ซึ่งรวบรวมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโอชิคัตสึ หากพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโอชิคัตสึ การเข้าร่วมงานนี้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการโปรโมตสินค้าของผู้ส่งออก นอกจากนี้ หากต้องการจำหน่ายคอนเทนต์ที่เป็นเป้าหมายของกิจกรรมโอชิคัตสึ เช่น ภาพยนตร์ ละคร หรือ IP (ทรัพย์สินทางปัญญา) ฯลฯ TIFFCOM (https://tiffcom.jp/en/) เป็นงานแสดงสินค้าที่เหมาะสม เพราะเป็นงานแสดงสินค้าประเภทมัลติคอนเทนต์ ได้แก่ ภาพยนตร์ ละคร และ IP (ทรัพย์สินทางปัญญา) ซึ่งมีผู้ซื้อจากทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศเข้าร่วม
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 16 และ 22 มีนาคม 2568