การขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ จะลดการเติบโตทางเศรษฐกิจเยอรมัน

กำแพงภาษีศุลกากรที่นาย Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศใช้กับสินค้าเกือบทั้งหมดที่นำเข้าได้ส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยเป็นตัวเลขของสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) ซึ่งจัดทำขึ้นให้แก่หนังสือพิมพ์ Handelsblatt เปิดเผยว่า เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงทั่วโลกจะลดลง 0.83% และความเสียหายที่เกิดกับเยอรมนีนั้นถือว่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็มีนัยสำคัญ เพราะภาษีศุลกากรดังกล่าว จะทำให้ GDP ที่แท้จริงของเยอรมนีลดลง 0.3% ในช่วงประมาณหนึ่งปี นั่นคือ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12.9 พันล้านยูโร (โดยประมาณ) ในขณะที่ สถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจ ของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) ได้ประมาณการค่าความเสียหายไว้ที่ 0.3% ของ GDP ของประเทศเช่นกัน สำหรับ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญบางอย่าง อาทิ ยานยนต์ และวิศวกรรมเครื่องกล จะได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก ซึ่งนาย Clemens Fuest ประธาน Ifo กล่าวว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีอยู่ในช่วงภาวะซบเซาอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะตอกย้ำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงต่ำกว่าศูนย์เปอร์เซ็นต์”

 

ตามที่ผู้เชี่ยวชาญ Ifo กล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังประสบปัญหาหลัก 3 ด้าน เพราะ (1) เยอรมนีจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง (2) เยอรมนีจะสามารถส่งออกสินค้าไปจีนได้น้อยลงเช่นกัน และ (3) เนื่องจากจีนจะต้องพึ่งพาตลาดส่งออกอื่น ๆ (นอกเหนือจากสหรัฐฯ) มากขึ้น จะส่งผลให้บริษัทเยอรมันได้รับแรงกดดันในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการคำนวณของ Ifo ยังแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรมากเป็นพิเศษ โดยการเพิ่มมูลค่า (Value Added) จะลดลง 2.5% ในระยะสั้น และในขณะเดียวกัน อาจทำให้เกิดศักยภาพในภาคบริการและภาคเกษตรเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า การเพิ่มมูลค่า (Value Added) ในแต่ละภาคจะเพิ่มขึ้น 0.4% ตามข้อมูลของ Ifo แสดงให้เห็นต่อว่า เนื่องมาจากมาตรการด้านภาษีศุลกากรของทรัมป์ ได้ทำให้การส่งออกของเยอรมนีไปตลาดสหรัฐฯ อาจลดลง 21% ในขณะที่ การส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ก็ลดลงเช่นกัน โดยการส่งออกไปยังจีนลดลงเกือบ 10% และไปเม็กซิโกและแคนาดาลดลง 5% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเยอรมนีเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักให้กับ จีน เม็กซิโก และแคนาดา ดังนั้นเยอรมนีจึงได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากประเทศเหล่านี้ก็ส่งสินค้าไปให้สหรัฐอเมริกาได้น้อยลงเช่นกัน

 

นอกจากนี้ การที่ทำเนียบขาวได้ระบุว่า ภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นสำหรับ “ผู้กระทำผิดรายใหญ่” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025 เป็นต้นมา โดยนิยามของ “ผู้กระทำผิดรายใหญ่” หมายถึง (1) ประเทศที่มีเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง (2) มีการเก็บภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ และ (3) มีการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ด้วยการมาตรการกีดกันต่าง ซึ่งยนาย Trump สัญญาว่า การเรียกเก็บภาษีศุลกากรนี้จะสร้างรายได้ “หลายพันล้านดอลลาร์” ให้แก่สหรัฐฯ และนำไปสู่ ​​“ยุคทอง” เพราะอาจเกิด การย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลของ IfW จะเห็นว่า แผนดังกล่าวของ Trump จะออกดอกออกผลจริงได้จริงหรือ ? หรือจะสร้างความเสียหายที่ใหญ่ที่สุดให้แก่สหรัฐฯ เองกันแน่? เนื่องมาจากภาษีศุลกากรดังกล่าว ในระยะสั้น GDP ที่แท้จริงของสหรัฐฯ จะลดลง 1.69% นาย Julian Hinz นักเศรษฐศาสตร์ของ IfW และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Bielefeld กล่าวว่า “คนที่กำลังทำร้ายตัวเองหนักที่สุดในเวลานี้ คือ สหรัฐฯ เอง” ซึ่งคาดว่า น่าจะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ขึ้น และน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ เป็นหลัก เพราะสินค้าหลายชนิดจะมีราคาแพงขึ้น เพราะผู้ค้าปลีกจะส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาษีศุลกากรให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ในหลายสินค้าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น ยกตัวอย่างเช่น หากมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับเกลือ ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ด้วยการมาใช้พริกไทยแทนได้ แต่ถึงแม้ว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะสามารถเปลี่ยนมาบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศแทนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาสินค้าชนิดนี้จะถูกลง การที่ผู้ผลิตมีการแข่งขันลดลงอาจเป็นโอกาสที่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ และสำหรับผลิตภัณฑ์บางรายการภาษีศุลกากรจะทำให้การนำเข้ามายังสหรัฐฯ ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่นต้องซื้อเฉพาะสินค้าที่มีเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วภาคเอกชนของสหรัฐฯ ก็จะประสบปัญหาตามมา เพราะต้องซื้อสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากภาษีศุลกากร ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติของประเทศเสื่อมถอยลงซึ่งส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจการส่งออกในระยะยาว

 

ผลกระทบต่อราคาครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ตามการคำนวณของ IfW ในระยะสั้นดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI – consumer price index) ในสหรัฐฯ น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 7.3% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตั้งไว้เพียง 2% กว่า ๆ เท่านั้น และเมื่อมีมาตรการตอบโต้ครั้งใหญ่จากประเทศต่างๆ  ก็จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แย่อยู่แล้วมากขึ้น นาย Hinz กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่ภาวะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ (reciprocity) แต่เป็นการทำร้ายตัวเอง” นักเศรษฐศาสตร์ด้านการค้าเตือนว่า ผลกระทบต่อราคาในสหรัฐฯ จะมีมหาศาล และควรพิจารณาด้วยความระมัดระวังสูงสุด แต่ตอนนี้ก็มี “ทิศทางก็ชัดเจน” แสดงให้เห็น ในระดับโลกภาษีศุลกากรดังกล่าวจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ 0.71% อย่างไรก็ตาม จะทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลกหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากความต้องการจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะลดลง นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานว่า ผู้ส่งออกจะพยายามรักษายอดขายไปยังสหรัฐฯ โดยจะเสนอส่วนลด ตามที่นาย Robin Brooks จากสถาบัน Brookings Institute ในกรุงวอชิงตันกล่าว ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาษีศุลกากรทั่วโลกในขณะนี้ขึ้นอยู่กับจีนเป็นหลัก ในขณะที่ ระบบเศรษฐกิจตลาดโดยรวมผู้ส่งออกแต่ละรายจากประเทศอื่น ๆ อาจจะลดราคาสินค้าของตน แต่รัฐบาลในกรุงปักกิ่งกำลังพิจารณาลดค่าเงินของจีนลง ซึ่งหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง จะก่อให้เกิดความเสี่ยงระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ก่อน จากนั้นหากยังคงเกิดขึ้นต่อไป ก็จะแพร่กระจายไปยังสหรัฐอเมริกา นาย Brooks เตือนว่า “จนถึงตอนนี้จีนยังคงสงวนท่าทีในการตัดสินใจอะไรในระดับนั้น ซึ่งตอนนี้จีนอาจจะทบทวนเรื่องดังกล่าวและปฏิบัติในทิศทางดังกล่าวได้”

 

จาก Handelsblatt 25 เมษายน 2568

zh_CNChinese