ซอสและเครื่องปรุงรส หมายถึง สิ่งที่ใช้ปรุงแต่งรสของอาหาร เป็นทั้งของแข็งหรือของเหลว ใช้เพื่อให้อาหารมีสี กลิ่นและรสชาติ นอกจากวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผักและสมุนไพรต่าง ๆ แล้ว และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ ช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของอาหารและสามารถตอบสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสของผู้บริโภค
ปัจจุบันจากการยกระดับการบริโภคในจีน ผู้บริโภคตระหนักและใส่ใจเกี่ยวกับความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพได้กลายเป็นทัศนคติใหม่ในชีวิตประจำวันของชาวจีน ซึ่งแนวโน้มการดูแลสุขภาพนี้ได้นำโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ ให้แก่ตลาดซอสและเครื่องปรุงรส ทั้งนี้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจซอสและเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพในตลาดจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพที่ “ลดโซเดียม มีความเป็นออร์แกนิกและไม่ผสมสารปรุงแต่ง” ทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
1. มูลค่าตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในตลาดจีน
จากข้อมูลการสำรวจพบว่า มูลค่าตลาดสินค้าของซอสและเครื่องปรุงรสของจีนในปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 513,300 ล้านหยวน และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านหยวน และตลาดสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสของจีนมีแนวโน้มในการพัฒนาเพื่อสุขภาพมากขึ้น จากความต้องการที่หลากหลายทำให้ขนาดของตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2. ความนิยมของเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพของจีน
2.1 เครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพกลายเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน
ความต้องการอาหารของผู้บริโภคค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นความปลอดภัยและสุขภาพซึ่งกลายเป็นทิศทางหลักของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับบริษัทเครื่องปรุงรส โดยลดโซเดียม มีความเป็นออร์แกนิก และปราศจากสารปรุงแต่ง ซึ่งมุ่งเน้นดีต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าปรุงรสทั่วไปในตลาด ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการที่หันมาดำเนินธุรกิจเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพในจีนมีแนวเพิ่มขึ้น และมีการสร้างจุดเด่นในการแข่งขันที่แตกต่างกัน
2.2 ซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม
จากข้อมูลการสำรวจในปี 2566 ผู้บริโภคร้อยละ 76.5 นิยมซื้อซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการตลาดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพยังคงมีช่องว่างและโอกาสในการพัฒนาอยู่อีกมาก ในแง่ของการประเมินผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคมีความพึงพอใจโดยรวมสูง ซึ่งประเมินว่ารสชาติของซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนดีและได้รับความนิกผู้บริโภค และ แบรนด์ผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรสที่ดีจะเป็นเครื่องหมายการันตีที่สำคัญอีกด้วย
2.2.1 ขนาดตลาดของซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนในตลาดจีน
ตั้งแต่ปี 2566 – 2568 อัตราการเติบโตต่อปีของตลาดซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนของจีนสูงถึงร้อยละ 134.6 และคาดว่าขนาดตลาดดังกล่าวในปี 2568 จะมีมูลค่าประมาณ 1,547 ล้านหยวน ทั้งนี้บริษัท Songxianxian ในฐานะผู้บุกเบิกซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนในจีน ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลการวิจัย 2563 – 2565 ยอดขายซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนของบริษัทมียอดขายครองอันดับที่ 1 ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี โดยส่วนแบ่งตลาดของบริษัทในปี 2565 ครองส่วนแบ่งร้อยละ 65.4 ของซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนทั้งหมดในจีน
2.2.2 ประเภทซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสน
ซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติและใช้เห็ดสนเป็นวัตถุดิบหลัก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรสที่ทำจากเห็ดสน ได้แก่ น้ำมันเห็ดสน น้ำสลัดน้ำใสเห็ดสน ซีอิ๊วเห็ดสน เครื่องปรุงรสเห็ดสน เป็นต้น ทั้งนี้แบรนด์ซอสและเครื่องปรุงรสชั้นนำต่างๆ ได้ทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และประเภทซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสนได้กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดจีนในตอนนี้
3. พฤติกรรมผู้บริโภค
จากตัวเลข iiMedia Research เผยว่ากลุ่มผู้บริโภคสินค้าเครื่องปรุงรสส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง โดย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.2 และเพศชายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.8 โดยจากข้อมูลการใช้จ่ายรายปีสำหรับสินค้าเครื่องปรุงรสพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 มีมูลค่าการบริโภคเครื่องปรุงรสเฉลี่ยในแต่ละปีอยู่ที่ไม่เกิน 300 หยวน ในจำนวนนี้ ผู้บริโภคร้อยละ 30.3 มีมูลค่าการบริโภคเครื่องปรุงรสเฉลี่ยในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 101-200 หยวน ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวจีนมีการทำอาหารอยู่ที่บ้านมากขึ้น ทำให้มี ความต้องการสินค้าเครื่องปรุงรสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในประเทศจีนยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก
3.1 ปัจจัยในการเลือกซื้อซอสและเครื่องปรุงรสของผู้บริโภคชาวจีน
3.2 การยอมรับผลิตภัณฑ์แบรนด์เก่าแก่มีความเสถียรภาพ
จากข้อมูลการสำรวจ แบรนด์ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรกในจีน ได้แก่ แบรนด์ Lee Kum Kee HADAY และ Chubang โดยโครงสร้างของการแข่งขันของตลาดซอสและเครื่องปรุงรสแบรนด์ดั้งเดิมมี ความเสถียรภาพ และ “การจงรักภักดี” ต่อแบรนด์เก่าแก่ค่อนข้างมั่นคง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นช่องทางการพัฒนาใหม่สำหรับแบรนด์ซอสและเครื่องปรุงรสใหม่ๆ เช่น แบรนด์ Songxianxian (ซงเซียนเซียน) ได้เข้าสู่การแข่งขัน ในอุตสาหกรรมซอสและเครื่องปรุงรส โดยเปิดตัว “ผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรสเห็ดสน” เน้นแนวคิด ด้านสุขภาพจนได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจีนในวงกว้าง
3.3 ผู้บริโภคมากกว่าร้อยละ 90 ยินดีซื้อซอสและเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพใหม่ๆ
จากข้อมูลการสำรวจพบว่าร้อยละ 98.4 ของผู้บริโภคเต็มใจที่จะทดลองซื้อซอสและเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการยอมรับต่อแนวทางการส่งเสริมการขาย ดังนี้ จัดโปรโมชันลดและแถม คิดเป็นร้อยละ 77.0 กลยุทธ์ “ป้ายยา” จากโซเชียล คิดเป็นร้อยละ 62.8 และการ Live Streaming คิดเป็นร้อยละ 50.7 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ทางการตลาดเผยว่า ผู้ประกอบการซอสและเครื่องปรุงรสแบรนด์ต่าง ๆ จะต้องวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อกระตุ้นการติดตามและเพิ่มการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง
4. ตัวอย่างซอสและเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพในตลาดจีน
5. แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมซอสและเครื่องปรุงรสของจีน
5.1 การผลิตเครื่องปรุงรสในจีนส่วนใหญ่มุ่งเน้นผู้บริโภคระดับกลาง-สูง สินค้ามีความหลากหลาย ปัจจุบันแนวคิดเรื่องสุขภาพได้กลายเป็นความต้องการใหม่สำหรับการยกระดับการบริโภคของจีน โดยผู้บริโภคได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเครื่องปรุงรส เช่น ความปลอดภัย ส่วนผสม แบรนด์และคุณภาพ เป็นต้น เนื่องจากคนสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ความต้องการอาหารของผู้บริโภคจึงพัฒนาไปในทิศทางสุขภาพเป็นหลัก เช่น เกลือน้อย น้ำมันน้อยและน้ำตาลน้อย เป็นต้น ซึ่งเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มความต้องการสูงในตลาดจีน
5.2 แนวโน้มเกี่ยวกับนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหารปรากฏขึ้น โดยกระแสสุขภาพได้นำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสจีน และขนาดตลาดมีมูลค่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ/นักลงทุนหันมาดำเนินธุรกิจเครื่องปรุงรสมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทเครื่องปรุงรสของจีนกำลังปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคชาวจีน โดยบริษัท Haitian, Hengshun และ Songxianxian ได้ทยอยเปิดตัวเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพหลายประเภท
5.3 จากข้อมูลการสำรวจ ส่วนผสมในเครื่องปรุงรส เช่น สารปรุงแต่ง ปริมาณโซเดียม ไขมันและน้ำตาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคจีนให้ความสนใจ สืบเนื่องจากการตระหนักในการรักษาสุขภาพของผู้บริโภคและการเพิ่มความรู้ทางโภชนาการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อเครื่องปรุงรส
5.4 เครื่องปรุงรสเห็ดสนถือเป็นแนวโน้มความต้องการใหม่ของผู้บริโภคจีน และสินค้าประเภทนวัตกรรมใหม่ที่มีขนาดเล็กกำลังได้รับความนิยมในตลาด เช่น เครื่องปรุงรสเห็ดสนได้เข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จากข้อมูลการสำรวจในปี 2566 ผู้บริโภคร้อยละ 76.5 มีแนวโน้มในการใช้จ่ายกับเครื่องปรุงรสเห็ดสนมากกว่าปีที่ผ่านมา และตลาดเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพในจีนยังคงมีช่องว่างในการพัฒนาอยู่อีกมาก
ความคิดเห็นของ สคต.
ปัจจุบันแนวคิดเรื่องสุขภาพได้รับความสนใจในระยะยาวจากผู้บริโภคจีน “โครงการ Healthy China 2030” ได้เสริมสร้างความตระหนักของผู้บริโภคเกี่ยวกับแนวคิดด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น การลดเค็ม ลดน้ำตาล ออร์แกนิก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้กลายเป็นแนวทางในการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์เครื่อง ปรุงรสแบบใหม่ของจีน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มความต้องการเครื่องปรุงรสเห็ดสนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และมีบริษัทสตาร์ทอัพในจีนจำนวนมากได้ทยอยเข้าสู่ธุรกิจเครื่องปรุงรสมากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องปรุงรสของจีนยังคงมีช่องว่างอยู่อีกมาก และถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดเครื่องปรุงรสเพื่อสุขภาพมายังตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคจีนได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น โดยการเลือกซื้อสินค้าที่มีส่วนผสมของเห็ดสน โซเดียมต่ำ น้ำตาลน้อยและน้ำมันน้อย เป็นต้น กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคจีนกว่าร้อยละ 80 นิยมเลือกซื้อสินค้าเครื่องปรุงรสทางแพลตฟอร์มและการ Live Streaming ซึ่งปัจจุบันระบบอินเตอร์เน็ตมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การซื้อขายทางออนไลน์เป็นหนึ่งช่องทางที่สำคัญใน การจำหน่ายสินค้าเครื่องปรุงรส อีกทั้งคาดว่าในอนาคตช่องทางการจำหน่ายเครื่องปรุงรสทางออนไลน์จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
*****************************************
แหล่งที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/xPDXbRqk9I1CCnUdIlxG8A
昆明市对外贸易促进办公室