สถานการณ์เศรษฐกิจบังกลาเทศ เดือนพฤษภาคม 2566
ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบังกลาเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่ธนาคารโลกได้อนุมัติเงินกู้ยืมจำนวน 507 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยทุนสำรองฯ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 30.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้นภายในเดือนมิถุนายน 2566 พันธมิตรด้านการพัฒนาประเทศของบังกลาเทศ เช่น ADB และ JICA จะอนุมัติเงินกู้ให้บังกลาเทศตามที่บังกลาเทศได้ทำสัญญาขอกู้เงินเพื่อรักษาระดับทุนสำรองฯ และสภาพคล่องไว้ มีแนวโน้มที่ดีว่าทุนสำรองฯ ของบังกลาเทศในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการส่งออกเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.38 (ก.ค. 65- เม.ย. 66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) และเงินโอนกลับจากแรงงานบังกลาเทศโพ้นทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.36 (ก.ค. 65- เม.ย. 66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นแรงกดดันของรัฐบาลบังกลาเทศที่จะต้องหามาตรการรักษาระดับทุนสำรองฯ อย่างน้อยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข IMF (ที่กำหนดว่าในเดือนมิถุนายน 2566 บังกลาเทศต้องมีเงินทุนสำรองไม่น้อยกว่า 24.46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) มาตรการที่คาดว่ารัฐบาลบังกลาเทศนำมาใช้ ได้แก่ การคงมาตรการชะลอการนำเข้า โดยการเข้มงวดการออก L/C สินค้าที่มีความจำเป็นน้อย (ปีงบประมาณ 2565-66 ช่วงเดือน ก.ค. 65-เม.ย. 66) ผลจากการเข้มงวดการออก L/C ทำให้การนำเข้าลดลงร้อยละ 10.27) และเร่งรัดการส่งออกให้มากขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรอบ 12 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 8.64
ผลจากการเข้มงวดออก L/C ทำให้การส่งออกของไทยมาบังกลาเทศในปีงบประมาณ 2566 ลดลงเกือบทุกตัว แม้ว่าสินค้าใน 10 ลำดับแรกจะเป็นสินค้าปฐมภูมิ ซึ่งเป็นที่ต้องการของบังกลาเทศ เพื่อนำไปผลิตสินค้าต่างๆ ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งในบังกลาเทศเองและในระดับโลกชะลอตัว ส่งผลต่ออุปสงค์สินค้าสำคัญของบังกลาเทศ เจ้าของแบรนด์ส่วนใหญ่ชะลอการรับมอบสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว รวมทั้งขยายเวลาส่งมอบ ผู้ผลิตในบังกลาเทศจึงต้องมีภาระในการรักษาสต๊อก รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการเก็บรักษา รวมทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้า ไม่ป้อนงานใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเสื่้อผ้าสำเร็จรูปของบังกลาเทศยิ่งดำดิ่ง ผลจากการชะลอดังกล่าว ส่งผลให้มีการใช้วัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตน้อยตามลงไปด้วย
ในระยะยาวเมื่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว มีการบริโภคใช้สอยเพิ่มมากขึ้น จะช่วยฟื้นฟูสถานการณ์และเศรษฐกิจของบังกลาเทศที่ซบเซาให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งจะส่งให้การผลิตสินค้า การใช้วัตุดิบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น